มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “Lung Live: รายงานสดจากช่องอกคุณ”

มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “Lung Live: รายงานสดจากช่องอกคุณ”
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายของมะเร็งปอด ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับ 1 ในประเทศไทย จัดโครงการ “Lung Live: รายงานสดจากช่องอกคุณ” พร้อมจัดนิทรรศการอินเตอร์แอคทีฟเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับสุขภาพปอด ภัยร้ายที่ทำลายปอด และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด ภายในงานยังได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งมาให้ความรู้เพื่อพิชิตมะเร็งปอด พร้อมด้วยดารานักแสดงและนักกิจการเพื่อสังคมมาร่วมกิจกรรมรณรงค์ในโครงการฯ

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก โดยในปี 2558 มีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากถึง 1.7 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับหนึ่ง โดยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 17,600 คนในปี 2557  ในแต่ละปีประเทศไทยจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ประมาณ 20,000 ราย และอัตราผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดยังสูงถึง 40% เนื่องจากผู้ป่วยบางรายไม่ปรากฏอาการทางปอดมาก่อน กว่าจะค้นพบว่าเป็นมะเร็งปอดก็เมื่อมีอาการจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 6 เดือน”

เนื่องในวันมะเร็งปอดสากลที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 สิงหาคม มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ในฐานะศูนย์รวมบุคลากรทางการแพทย์ในสาขามะเร็งวิทยา ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริม ดูแล และให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งแก่ประชาชนชาวไทย จึงเดินหน้าจัดโครงการ “Lung Live: รายงานสดจากช่องอกคุณ” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้ประชาชนชาวไทยรู้เท่าทันโรคมะเร็งปอด ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอด และการเฝ้าระวังดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปอด พร้อมจัดนิทรรศการแบบอินเตอร์แอคทีฟที่ให้ทั้งความรู้คู่ความสนุก การเสวนาให้ความรู้เรื่องมะเร็งปอดและการดูแลตนเองเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา การตรวจสุขภาพเบื้องต้นและตรวจสมรรถภาพปอด การแบ่งปันประสบการณ์และเคล็ดลับการดูแลสุขภาพของดารานักแสดงและผู้ร่วมสนับสนุนโครงการฯ นำโดย หมอเจี๊ยบ – แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์,  หมอเอิง – แพทย์หญิงอังศ์วรา ธีระตันติกานนท์, คุณอาเล็ก - ธีรเดช เมธาวรายุทธ ร่วมด้วย คุณออย - ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการ ART .for. Cancer

และหมอบัว– ดร. แพทย์หญิงประกายทิพ สุศิลปรัตน์ แพทย์ชำนาญการพิเศษด้านเวชกรรมและเจ้าของเฟซบุคเพจ สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง รวมถึงกิจกรรมประมูลของที่ระลึกจากดารานักแสดง ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำเข้ามะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปทำประโยชน์แก่ผู้ป่วยมะเร็งต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิโรจน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปอด ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบ 10-30 เท่า และยิ่งสูบนานยิ่งมีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันแม้จะมีการรณรงค์งดสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง แต่อุบัติการณ์ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดกลับไม่ได้ลดลง เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การได้รับสารพิษ ควันบุหรี่ (บุหรี่มือสอง) รังสี ฝุ่น ไอระเหย และโลหะต่างๆ เป็นระยะเวลานาน รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรม โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งปอดจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าคนทั่วไป แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา อายุรแพทย์มะเร็ง โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเสริมว่า “ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีอาการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์มะเร็งปอดอยู่ที่ตำแหน่งไหนของร่างกาย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก บางรายอาจมีอาการทางระบบประสาทถ้าเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปที่สมองหรือไขกระดูกสันหลัง เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ หรือบางรายมีอาการปวดกระดูกมากถ้าเซลล์มะเร็งปอดได้แพร่กระจายไปที่กระดูกแล้ว เป็นต้น”

“ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นมากทั้งในด้านการวินิจฉัยและรักษา มะเร็งปอดจึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีหลายวิธี การผ่าตัดเป็นวีธีการที่ได้ผลดีที่สุดหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้ามาก ผู้ป่วยจึงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนการรักษามะเร็งปอดระยะลุกลาม สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด ปัจจุบันมีการพัฒนายาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลง รวมถึงการพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ ที่ได้ผลดีมากในการรักษาอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด ปัจจุบันวงการแพทย์ยังมีวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ให้ผลเฉพาะจุดและทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาดังกล่าวจะได้ผลดีมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR และยีน ALK ที่มีบทบาทต่อการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ผลวิจัยพบว่ายารักษาแบบมุ่งเป้านี้สามารถควบคุมมะเร็งปอดได้ดี และมีผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีการรักษาด้วยยาใหม่อีกกลุ่มหนึ่งคือ ยากระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายให้ต่อสู้กับมะเร็งอีกด้วย”  

“โรคมะเร็งปอดก็เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไปที่วิทยาการทางการแพทย์สามารถรักษาได้ ถ้ามีอาการหนักมากก็อาจจะต้องเพิ่มยาหรือเปลี่ยนยา และเมื่ออาการทุเลาลงก็สามารถลดหรือหยุดยาได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด และจำเป็นอย่างยิ่งในการเสริมภูมิคุ้มกันชาวไทยทุกคนให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด คือ การดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และหยุดสูบบุหรี่ทั้งเพื่อตัวเราเองและคนรอบข้าง และถ้ามีอาการผิดปกติให้มาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เร็วและดีที่สุด เนื่องจากมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ กล่าวทิ้งท้าย            
 


REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line