เปอร์-สเปกทีฟ พาชื่นชมพื้นที่สีเขียว พร้อมสัมผัสหัวใจ ครูต้อ หมอต้นไม้

เปอร์-สเปกทีฟ พาชื่นชมพื้นที่สีเขียว พร้อมสัมผัสหัวใจ ครูต้อ หมอต้นไม้

ใครจะรู้ว่าป่าในเมืองทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นมากแค่ไหน พิธีกรหนุ่ม"เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์” จะพารายการ “เปอร์-สเปกทีฟ”ไปรู้จัก “ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน” รุกขกรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลต้นไม้ใหญ่ อีกหนึ่งอาชีพสำคัญที่ทำให้ป่าไม้อยู่ร่วมกับคนเมืองได้อย่างปลอดภัยทั้งสองฝ่าย


ป่าในเมืองมีประโยชน์มากกว่าที่เราเคยรู้ ทั้งด้านสังคมเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของมนุษย์ ตามที่มีผลวิจัยแล้วว่าเมืองไหนมีพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นนักท่องเที่ยวจะพักอาศัยในเมืองนั้นนานขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ดีตามข้อมูลใหม่นี้ทำเอาเปอร์ ตื่นเต้นเพราะไม่คิดว่าการมีป่าในเมืองจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ งานนี้เลยได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ในการดูแลธรรมชาติจาก ครูต้อ พร้อมได้เห็นการตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกวิธีที่ไม่ใช่ใครก็จะทำได้จากรุกขกรมืออาชีพ 

ครูต้อ เผยว่า “เราต้องเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ ต้องดูแลเขาอย่างถูกต้อง สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยคิดกันคือถ้าเรามีต้นไม้อยู่ ระบบระบายน้ำของเราจะเล็กลงเพราะน้ำจะไปค้างบนต้นไม้ช่วยรับน้ำฝนเช่นเดียวกับป่า ผมได้เรียนรู้จากการทำงานว่าการที่จะทำให้ป่าในเมืองเกิดขึ้นได้นั้นทุกคนต้องช่วยกัน เช่นตอนที่การเคหะฯ อยากให้แฟลตห้วยขวางมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเพื่อความงาม ผมก็ให้เด็กวัยรุ่นได้ลงมือช่วยกันปลูก สิ่งนี้เป็นการปลูกต้นไม้ในใจคนทำให้เขาเห็นคุณค่าตระหนัก และรักต้นไม้จึงเกิดการลงมือทำจนสำเร็จ ซึ่งถ้าทำคนเดียวคงทำไม่ได้ผมก็ได้นักบริหารชุมชนที่ช่วยรวมทุกคนให้เป็นกลุ่มก้อน จริง ๆ แล้วต้นไม้ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ในปัจจุบันยิ่งเก็บไว้ยิ่งได้เงิน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าแล้วยังสามารถขายได้เร็วกว่าอีกด้วย

ความประทับในอาชีพนี้คือการได้มีโอกาสรับงานย้ายต้นตะเคียนโบราณสูงกว่า 27 เมตร ของ ปตท. ที่เขามีความจำเป็นต้องย้ายถังน้ำมันมาตั้งตรงจุดนั้นแทนแต่ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องของป่าไม้ขององค์กร จึงไม่ต้องการโค่นและขอให้ย้ายอย่างดีที่สุดเพื่อให้ต้นไม้ต้นนี้รอดแม้จะเสียงบประมาณมาก มันเป็นความท้าทายที่ทุกคนทุ่มเทจนในที่สุดทุกวันนี้ต้นตะเคียนต้นนี้ยังมีชีวิตอยู่อย่างสวยงาม ทำให้ ปตท.ประทับใจและมอบเงินสนับสนุนให้ผมได้เปิดโรงเรียนสอนคนตัดต้นไม้ ผลิตรุกขกรออกมาแล้วกว่าร้อยชีวิต ผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจจริงจะมีคนเห็นและจะได้รับการส่งเสริมจนสำเร็จได้ในที่สุด ต้นไม้ต้องแข็งแรงแต่ต้องไม่ก่อปัญหากับมนุษย์ ส่วนมนุษย์ก็ต้องรู้จักวิธีดูแลตัดแต่งต้นไม้โดยไม่ทำให้เสียหาย เพราะรากเหง้าของมนุษย์คือป่าไม้ ฉะนั้นคนอยู่ได้ ป่าก็จะอยู่รอด”

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line