พณ.ร่วมงาน AFM 2018 ชูศักยภาพอุตสาหกรรมหนังไทย

พณ.ร่วมงาน AFM 2018 ชูศักยภาพอุตสาหกรรมหนังไทย

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เข้าร่วมงาน American Film Market 2018 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 7 พฤศจิกายน 2561 ณ เมืองซานตา โมนิก้า แคลิฟอร์เนีย พร้อมเน้นย้ำศักยภาพอุตสาหกรรมหนังไทย มุ่งสร้างเครือข่ายทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์


ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนการทำธุรกิจของเอกชนในประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการใช้ American Film Market (AFM) 2018 เป็นเวทีในการแสดงความพร้อมและศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางทางความคิดสร้างสรรค์และการเป็นผู้นำทางการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การเข้าร่วมงาน AFM ในครั้งนี้ถือเป็นการขยายโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สอดรับกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านกิจกรรมสำคัญอย่างงาน Thai Night

งาน Thai Night ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ระหว่างงาน AFM 2018 นั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะกับกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงระดับโลก ก่อให้เกิดการเจรจาการค้าและทำข้อตกลงในการลงทุนร่วมกัน นอกเหนือจากความคาดหวังในการสร้างโอกาสในการลงทุนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงจากต่างประเทศแล้ว  งาน Thai Night ยังเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติได้เป็นอย่างดี

ในโอกาสนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี โดยมี นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนผู้คณะบริหาร และนักธุรกิจระดับแนวหน้า รวมถึงบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงจากทั่วโลก ได้ให้เกียรติตอบรับเข้าร่วมงานและเป็นอีกปีที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมงาน AFM 2018 เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการสร้างภาพยนตร์ โดยชูจุดแข็งของประเทศไทยในด้านความคิดสร้างสรรค์ ทักษะความสามารถในการผลิต การมีสถานที่ถ่ายทำที่หลากหลาย กระบวนการหลังการถ่ายทำที่ครบวงจร และความคุ้มค่าทางด้านการผลิต

นอกจากการมีเครื่องมือและสถานที่ที่พร้อมรองรับและสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ในระดับสากลแล้ว ฝีมือและความคิดความสร้างสรรค์ของคนไทยนั้นเป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับ Hollywood ซึ่งล่าสุดนักออกแบบเครื่องแต่งกายลูกครึ่งไทยอเมริกัน สุทธิรัตน์ “แอนน์” ลาลาภ ที่เคยสร้างผลงานไว้ในThe Beach, Sunshine, Steve Jobs และ Slumdog Millionaire และสยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพจาก Call Me By Your Name ต่างได้รับเกียรติให้เป็น 1 ในกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์ รวมถึง บงกช เบญจรงคกุล ผู้กำกับและผู้สร้าง Sad Beauty ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม 

Sad Beauty เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าของผู้สร้างภาพยนตร์หน้าใหม่ ที่ออกไปสำรวจสถานที่ถ่ายทำใหม่ๆ และพร้อมที่จะเปิดรับความท้าทาย ในฐานะของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ บงกชกล่าวว่า “นี่คือช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นในการเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคการถ่ายทำต่างๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาพยนตร์มีคุณภาพ” นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีนโยบายการคืนค่าใช้จ่ายในอัตรา 15 - 17 เปอร์เซ็นต์ เพื่อดึงดูดกองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ และมีนโนบายคืนเงินเพิ่มให้อีก 3 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่มีการว่าจ้างคนไทยในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติที่ได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยระหว่างเดือนมกราคม 2560 – สิงหาคม 2561 มีภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวน 1,258 เรื่องเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,700 ล้านบาท (145 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

เทศกาล American Film Market (AFM) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2524 และเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วในฐานะตลาดภาพยนตร์ที่บรรดาผู้ทรงอิทธิพลของวงการHollywood มารวมตัวกัน ซึ่งงาน American Film Market จะแตกต่างจากงานซื้อขายภาพยนตร์อื่นๆ เพราะเป็นงานที่ผู้ซื้อและผู้ขายส่วนใหญ่จะตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อขายภาพยนตร์ภายในงาน ทั้งภาพยนตร์ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเรื่องที่ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา จึงทำให้ American Film Market เป็นงานที่ห้ามพลาดสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

Comments

Share Tweet Line