คนรุ่นใหม่เสนอไอเดีย “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย”

 คนรุ่นใหม่เสนอไอเดีย “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จัดกิจกรรม Redesigning Thailand เวทีเปิดกว้างประลองความคิดด้านนโยบายสาธารณะสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดประกายไอเดียให้กับนักศึกษาที่ต้องการออกแบบนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ   โดยกิจกรรมมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับนักวิจัย TDRI เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่เส้นทางนักวิจัยเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต   


ในปีนี้ Redesigning Thailand #5  ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมสร้างพลังสดใหม่ ให้ประเทศพร้อมรับมือสังคมสูงวัย ด้วยการตั้งโจทย์ท้าทายความคิดคนรุ่นใหม่ “จับความกระปรี้กระเปร่า มาเขย่าสังคมสูงวัย”  ซึ่งมีนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากทั่วประเทศส่งบทความเสนอไอเดียร่วมตอบโจทย์กว่า 30 บทความ และมี 6 ไอเดีย 6 ทีม จาก 3 สถาบันผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ  โดยทั้งหมดได้เข้าร่วมปรับปรุงพัฒนาหัวข้อกับนักวิจัย TDRI และนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน  เมื่อวันที่ 20 พฤศิจายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา

สำหรับผลการตัดสิน  ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ “จับความกระปรี้กระเปร่ามาเขย่าสังคมไทย”  มาจากแนวคิด  Gen X: AGING WITH VITALITY  ของทีมนิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ นางสาวธมกร จันทร์สว่าง นางสาวนิธินันท์ แจงวาณิชย์ และ นางสาวสริตา พิทักษ์ธีระธรรม   โดยตีความคำว่า “พลังสดใหม่”ต้องเป็นพลังที่ต้องมาจากภายในตัวผู้สูงอายุที่รู้สึกกระปรี้กระเปร่าอยากออกไปทำกิจกรรมหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  จึงออกแบบนโยบายโดยมุ่งเป้าหมายไปที่คนการเตรียมความพร้อมคน Gen X ซึ่งจะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้าให้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยมีพลังจากภายในตนเอง  จึงต้องปรับทัศนคติ สำคัญ 3 อย่างคือ ความหมายของคำว่าชราภาพ ว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งนั้นไม่เสมอไป  มุมมองต่อโลกปัจจุบันคนสูงวัยก็สามารถเรียนรู้โลกปัจจุบันได้ไม่ต่างจากคนวัยอื่น และมุมมองต่อค่านิยมที่คาดหวังให้ลูกหลานมาดูแลเมื่อมีอายุมากขึ้น อยากให้ผู้สูงวัยมองว่าแม้จะอายุมากขึ้นแต่ก็ยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ด้วยเชื่อว่าสื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ จึงทำสำรวจความคิดเห็นของคน Gen X เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในสื่อ พบว่า ชาว Gen Xจำนวนหนึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่ปรากฎในสื่อ ว่ามีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ออกไปเที่ยว ไปพบปะสังคม เป็นคนร่าเริง อัธยาศัยดี  แต่ยังมีชาว Gen X จำนวนไม่น้อยที่มีภาพลักษณ์ที่ลบต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่ปรากฎในสื่อ เช่น ไม่ทันสังคม เป็นผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ จึงอยากสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่เป็นบวกและแตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน  โดยสร้างเนื้อหาและนำเสนอผ่านรูปแบบรายการที่ ชาว Gen X สนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ได้แก่ รายการเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์  รายการท่องเที่ยว  รายการข่าวสาร  และรายการบันเทิง  อาทิ การให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีอิทธิพลต่อชาว Gen X เป็นผู้ดำเนินรายการในรายการไลฟ์สไตล์หรือการท่องเที่ยว  เพิ่มทัศนคติว่าความชราไม่จำเป็นต้องอยู่ที่บ้าน ส่วนสื่อบันเทิงและสื่อโฆษณา อยากเห็นการถ่ายทอดภาพลักษณ์ในเชิงบวกมากขึ้น  เช่นเดียวกับในด้านข่าวสารอยากเห็นการนำเสนอข่าวสารที่ผู้สูงอายุมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยชรามากขึ้น  ส่วนสำคัญที่จะทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ต้องผนวกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน  โดยประชาชนคือเป้าหมายที่เราจะต้องไปเปลี่ยนทัศนคติ  ส่วนภาคเอกชนคือผู้ผลิตสื่อเองที่จะทำเนื้อหาที่สามารถปรับทัศนคติได้ โดยภาครัฐควรมีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนผู้ผลิตสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจูงใจ  ถ้านโยบายนี้ถูกปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ  น่าจะได้ผลตอบรับที่ดีเพราะได้เข้าไปปรับถึงฐานความคิดทัศนคติของคน

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากแนวคิด กองทุนพัฒนาวัฏจักรชีวิตผู้สูงอายุใหม่ เพื่อประเทศไทยยั่งยืนของกลุ่มเพื่อนต่างคณะจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คือ นายทัชภูมิ ทุมสวัสดิ์ จากคณะศิลปศาสตร์ นายรัฐพงศ์ หมะอุ  จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายกรวิชญ์ อินทวงษ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  แนวคิด  Elderly Community Policy  ของทีมนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คือ นางสาวจุฬาภัค คำบุศย์  นายเจตวัฒน์ ภัทรรังรอง และนางสาวณัฐมล อินทะเขื่อนนอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 ทีม ได้แก่   ทีมนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวคิด “Smart Age Model” นโยบายสูงวัยไปด้วยกัน      และอีก 2 ทีมจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากแนวคิด “เกษียณอย่างมั่นใจขับเคลื่อนแรงงานสูงวัยอย่างยั่งยืน” และ “เศรษฐกิจดี ต้องมีแรงงาน”  

ทั้งนี้ทีมชนะเลิศ รับเงินรางวัล 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 20,000 บาท  รองชนะเลิศอันดับสอง 12,000 บาท   ประกาศนียบัตร TDRI Junior Policy Researcher  สิทธิฝึกงานกับทีดีอาร์ไอ และได้รับพิจารณาเข้าทำงานระบบ Fast Track ที่ทีดีอาร์ไอหลังสำเร็จการศึกษา

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานชิย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า  กิจกรรม Redesigning Thailand เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย .....เพื่อพัฒนาประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ การกำหนดหัวข้อ “จับความกระปรี้กระเปร่ามาเขย่าสังคมสูงวัย”  เพราะเรื่องสังคมสูงวัยไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุอย่างเดียว วันนี้เรามองเห็นเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งอีกไม่นานเขาจะต้องอยู่กับสังคมสูงวัย พบว่า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีความแนวคิดก้าวไกลมากกับการรับมือสังคมสูงอายุ  บ้างเสนอว่า รับมือด้วยการปรับทัศนคติคนไทยโดยผ่านสื่อว่าผู้สูงอายุยังมีพลังยังทำงานได้  บางทีมเสนอรับมือด้วยมาตรการการออมในรูปแบบต่าง ๆ  ทั้งการตั้งกองทุนให้สมทบเข้ามาเพื่อสุดท้ายผู้สูงอายุจะได้มีเงินใช้กันในวัยเกษียณ  บางกลุ่มเสนอเรื่องการฝึกทักษะให้ผู้สูงอายุยังทำงานต่อไปได้ถ้ายังอยากทำงานอยู่ ทำให้ผู้สูงอายุมีความหมายในสังคม   และที่สำคัญหลายทีมเสนอใช้กลยุทธ์โดยเอาชุมชนมาช่วยกันทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวากระปรี้กระเปร่าขึ้น เพราะปัญหาใด ๆ ที่ยังมากและซับซ้อนไม่สามารถแก้ได้จากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยกัน   ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าน้องๆ ตีโจทย์ได้ถูกต้อง     

วันนี้ทุกทีมได้เรียนรู้ว่าการทำวิจัยเชิงนโยบายไม่เหมือนวิจัยทางวิชาการที่เรียนในมหาวิทยาลัยที่เราเรียนวิชาการแต่ไม่ได้เอาวิชาการไปแก้โจทย์จริงในโลกจริง   แต่วิจัยเชิงนโยบายจะต้องใช้โจทย์จริงในโลกจริง ใช้ข้อมูลจริงมาแก้ปัญหาจริง เพื่อให้เกิดการปฎิบัติจริงได้  จึงต้องมีวิธีคิดตั้งต้นที่ถูกก่อน จากนั้นจึงต้องมีการเก็บข้อมูล นำข้อมูลมาวิเคราะห์  จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำได้จริง  และสุดท้ายต้องสื่อสารกับสังคมและผู้กำหนดนโยบายได้ดีด้วย  ซึ่งกิจกรรมวันนี้ทุกทีมมีการเตรียมตัวมาอย่างดี มีทักษะในการสื่อสาร  และการเตรียมตอบคำถามที่ดีด้วย  การที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น หวังว่าเยาวชนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line