สำเร็จ!เครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงานผลงาน มทร.ธัญบุรี-เอกชน

สำเร็จ!เครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงานผลงาน มทร.ธัญบุรี-เอกชน

นักวิจัยวิศวะ มทร.ธัญบุรี ร่วมกับภาคเอกชน ผลิตสำเร็จ ‘เครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงาน’ ระบุประหยัดไฟกว่า 60-70% ค่าติดตั้งและซ่อมบำรุงถูกกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป พร้อมติดระบบกรองฝุ่น ป้องกันความชื้นและสร้างโอโซนอัตโนมัติ ปลอดภัยกับผู้ใช้งาน


รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง  ปลั่งกลาง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จ.ปทุมธานี หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า เครื่องปรับอากาศหรือแอร์คอนดิชันเนอร์ที่ใช้ในปัจจุบันแม้ให้ความเย็นฉ่ำและปรับอุณหภูมิได้ตามต้องการ แต่ก็สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากและมีค่าไฟฟ้ามหาศาล หากใช้กับห้องที่มีพื้นที่กว้าง และโดมที่สูง ดังนั้น ตนและนายยุทธพงษ์ ศรีวิชัยมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไททัม จำกัด และบริษัท ไททัม อินดัสเทรียล จำกัด ร่วมกันพัฒนาเครื่องกำเนิดลมเย็นที่สามารถสร้างลมได้เสมือนกับเครื่องปรับอากาศ

จากการสืบค้นข้อมูล พบว่าระบบดังกล่าวได้เริ่มใช้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยนำข้อดีของระบบทำความเย็นหลายชนิดในปัจจุบัน มารวมกันเป็น Hybrid Innovation Technology เพื่อแก้ปัญหา เช่นการใช้ระบบอีแวบ ในโรงเรือนเพาะต้นกล้า ประเทศอิสราเอล ที่พัฒนามาสู่ระบบฟาร์มไก่และเริ่มใช้กับมนุษย์มากยิ่งขึ้นดังปัจจุบัน เช่น ร้านวัสดุก่อสร้างอย่างดูโฮม เมกาโฮมและไทยวัสดุ ซึ่งได้นำระบบอีแวบมาใช้ ทำให้เกิดปัญหาการเหนียวตัว เมื่อข้างนอกมีความชื้นหรือฝนตก เกิดสภาวะร้อนอบอ้าว บางแห่งไม่มีระบบบำบัดน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค และระบบทำความเย็นชิลเลอร์ ใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมาก และอาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคบริเวณคอยล์เย็นขึ้นได้

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง กล่าวว่า เครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงานควบคุมด้วยอินเวอร์เตอร์คอนโทรลและมินิคอมเพรสเซอร์ ที่พัฒนาจนสำเร็จนี้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 60 – 70 % ค่าติดตั้งและค่าซ่อมบำรุงก็ถูกกว่าเมื่อเทียบต่อตารางเมตรในห้องที่กว้างหรือโดมที่สูง และให้ลมเย็นด้วยระบบทำน้ำเย็นร่วมกับระบบอีแวบของน้ำเย็น ประกอบกับชุดออฟชั่นเพิ่มเมนคอนโทรลสามารถต่อระบบเครื่องสร้างลมเย็นได้มากถึง 8 ชุด และมีชุดออฟชั่นระบบป้องกันการสตาร์ทคอมเพรสเซอร์พร้อมกัน เพื่อช่วยลดค่าพีคดีมานด์หรือค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า ส่วนถังน้ำอีแวบมีระบบที่เชื่อมต่อกับระบบทำน้ำเย็นแบบพิเศษด้วยเทคนิคคูลลิ่งแบตเตอรี่ ที่ทำให้ระบบสามารถป้อนน้ำเย็นให้กับถังน้ำโดยอัตโนมัติ ขณะที่น้ำในถังเริ่มสกปรก ระบบสามารถปล่อยน้ำทิ้งได้อัตโนมัติ ที่สำคัญยังมีเซนเซอร์ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิทำให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน

ด้าน นายยุทธพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ติดตั้งระบบระบายอากาศ ดูดคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนออกจากตัวอาคารที่ติดตั้ง ทำให้หายใจโล่ง และสดชื่นเนื่องจากติดตั้งระบบกรองอากาศ กรองฝุ่นละอองและฆ่าเชื้อด้วยระบบอินฟาเรด และได้รับมาตรฐานการจัดการคุณภาพISO9001/2015 และมาตรฐานทางไฟฟ้าจาก P-TECH หน่วยงานจาก สวทช. ส่วนมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า ผ่านการตรวจสอบตัวอย่างน้ำที่ใช้ในระบบและน้ำทิ้งจากระบบว่าเป็นไปตามมาตรฐานน้ำที่ใช้ในมนุษย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทจัดให้มีการผลิตสินค้า 2 รุ่น คือ รุ่นเล็กสำหรับบ้านจัดสรร และรุ่นใหญ่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ รวมถึงสนามกีฬาในร่ม และเริ่มวางราคารุ่นเล็กประมาณ 50,000 – 250,000 บาทต่อหลัง ส่วนรุ่นใหญ่ราคาประมาณ 100,000 – 10,000,000 บาทตามพื้นที่ที่ติดตั้ง

ระบบทั้งหมดได้ติดตั้งเพื่อใช้งานจริงไม่ต่ำกว่า 2 ปี ดังเช่น สถานีอัดก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี จาก ปตท. บริษัท สากลเอนเนอยี จำกัด (มหาชน) โรงเซอร์วิสรถของตัวแทนจำหน่ายยามาฮา จ.สระบุรี ห้องสมุดโรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ จ.ตาก โรงผลิตแป้งมันสำปะหลัง บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด จ.สระแก้ว รวมถึงบ้านเรือนขนาดสองร้อยตารางเมตรขึ้นไปและสนามกีฬา

ทั้งนี้ สามารถสร้างลมเย็นได้ประมาณ 24 - 28 องศาเซลเซียส จัดเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ในประเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศที่มากถึง 70 % ขณะที่บางชิ้นส่วนยังต้องมีการนำเข้าจากประเทศจีนและอเมริกา ที่สำคัญคือสามารถใช้งานได้ทั้งห้องเปิดและห้องปิด โดยไม่เกิดความเสียหายกับคอมเพรสเซอร์ ล่าสุดคว้ารางวัลเหรียญเงิน ในงาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสและรางวัลพิเศษจาก China Association of Inventions ประเทศจีน ในอนาคตเตรียมพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นและมีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดพื้นที่ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 086 899 2996 หรือ 0951201888.

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line