สุขล้นปรี่ แบบ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ทำงานเพื่อเด็กชายขอบ

สุขล้นปรี่ แบบ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ทำงานเพื่อเด็กชายขอบ

ความสุข (Happiness) ของแต่ละคน เป็นเรื่องปัจเจก แต่ความสุขล้นปรี่ของ อู๊ด – ทวีศิลป์ ประสบชัย ซึ่งเป็น “การได้ทำงานเพื่อคนชายขอบ..ให้โอกาสแก่เพื่อนร่วมสังคมที่ใครหลายคนมองข้าม” อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการมองหาโอกาสที่จะใช้ทักษะความสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม และตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นพลเมือง (Active citizen) ที่ทุกคนควรมีส่วนในการตระหนักรับรู้และมีส่วนในการรับผิดชอบ


"อู๊ด – ทวีศิลป์ ประสบชัย” ชายหนุ่มวัย 30 ปี ทำงานที่ “มูลนิธิบ้านครูน้ำ” อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือและอุปการะคนชายขอบมาตั้งแต่ช่วงฝึกงานจนถึงปัจจุบัน ในตอนนี้รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามฝั่งไทย ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในด้านการให้คำปรึกษาและให้ทักษะชีวิต เช่น การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดแก่หญิงที่มีบุตรมากจนไม่สามารถเลี้ยงดูได้ตามสมควร จุดเริ่มต้นที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ทวีศิลป์มาทำงานที่นี่ถึงทุกวันนี้ คือ ตั้งแต่เขาอยู่ช่วงมัธยม 3 ด่านพรมแดน ไทย-เมียนมา เปิดให้ข้ามฟรี เขาคือเด็กคนหนึ่งที่ข้ามไปซื้อของเหมือนวัยรุ่นทั่วไป และได้เผชิญเหตุการณ์เด็กชายขอบหลายคนดึงทึ้งเสื้อนักท่องเที่ยวเพื่อขอเงิน เขาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ใส่ชุดนักเรียนไปเพื่อข้ามฝั่งฟรีแล้วต้องเลอะเปรอะเปื้อนไปทั่วตัวกลับบ้าน

ทวีศิลป์อธิบายว่า “ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่า ‘ทำไมเด็กพวกนี้ถึงมาอยู่ตรงนี้ ไม่ไปที่อื่นกันบ้างหรอ?’ ผมไม่เคยเข้าใจจนโตขึ้น สภาพแวดล้อมในชุมชนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ผมอาศัยก็ยังมีคนมาขอเงินเหมือนเดิม มันทำให้เราตั้งคำถามอย่างจริงจังอีกครั้งว่า ‘เขามาจากไหน ทำไมถึงไม่หมดไปเสียที?’ คำถามคาใจเหล่านี้เป็นเหตุให้ผมเลือกเรียนสาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อถึงช่วงฝึกงานจึงได้เริ่มเดินหน้าหาคำตอบและค้นหาการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังที่มูลนิธิบ้านครูน้ำครับ”

จุดเริ่มต้นในการทำงานไม่ได้เรียบง่าย “ผมโดนด่าทุกวัน ชีวิตผมไม่เคยโดนด่าอะไรขนาดนี้เลย แต่ ‘ครูน้ำ – นุชนารถ  บุญคง’ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสอนผมว่า เราต้องเปิดใจยอมรับก่อน เรื่องเหล่านี้มันอยู่ข้างใน เราจะทำอย่างไรให้เขาเปิดใจ ลองมองมุมต่างว่าเขาเป็น พี่ น้อง ไม่ใช่คนที่ต้องทำงานด้วย นั่นเป็นจุดเปลี่ยนให้ผมเห็นมุมมองใหม่ สถานการณ์ค่อย ๆ เปลี่ยนไป เด็กเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผมมากขึ้น ความสัมพันธ์มันเริ่มเดินหน้า และตอนนี้พวกเขาก็กลายมาเป็นคนสนิทที่ทำหน้าที่สื่อสารกับเด็กคนอื่น ๆ”

ในสายตาของคนภายนอกหลายคนจะมองว่าเด็กชายขอบสกปรก “ก็สกปรกจริงเนอะ (หัวเราะ) แต่เด็กก็คือเด็ก มอมแมมในอัตลักษณ์ของมัน แต่อยู่ดี ๆ จะจับพวกเขามาตัดผม อาบน้ำ ไม่มีใครยอม ผมจึงต้องรักษารูปลักษณ์และบุคลิกให้ดูดีตลอดเวลาเพื่อให้เด็กเหล่านั้นเอาไปเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเรื่องที่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ แต่ความรู้เป็นเรื่องที่ปลอมไม่ได้ สิ่งที่มูลนิธิฯ และผมให้ความสำคัญสุดจึงเป็นเรื่องการศึกษา เราถ่ายทอดทั้งความรู้และทักษะชีวิต สอนความอ่อนน้อมถ่อมตน ผ่านการทำให้ตระหนักถึงผลลัพธ์ของการกระทำ และลงมือทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อให้พวกเขาเลือกและนำไปปรับใช้ในแบบของเขาเอง

ตลอดการตอบคำถามด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ทวีศิลป์อธิบายถึงความสุขของเขาว่า “ผมชอบอยู่กับเด็ก ๆ ชอบให้พวกเขามีความสุข หัวเราะ ด้วยนิสัยของผมที่ไม่เข้มขรึมเข้าหาง่ายคงทำให้เด็กชอบผมด้วย ผมเป็นทั้งเพื่อน พี่ น้อง สนุกดีครับ อีกอย่างคือเราได้ ‘ให้ความรู้’ ผมชอบหน้าที่นี้ ผมสอนให้แต่ละคนชอบที่จะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ แล้วผมก็เรียนไปด้วย เรื่องไหนยังไม่รู้ก็ไปค้นหาคำตอบด้วยกัน เป็นงานที่มีเสน่ห์สำหรับผม ทำแล้วมีความสุข มันคือคำว่า ‘สุขร่วมสร้าง (Collective Happiness)’ มาร่วมกันสร้างความสุขด้วยกันเถอะ ทำให้คนอื่นมีรอยยิ้ม ไปไหนก็เป็นที่รักใคร่ ผมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีทุกข์และสุข แต่ผมจะพยายามทำให้คนรอบข้างมีความสุขครับ”

ความสุข (Happiness) แม้จะเป็นเรื่องที่เป็นปัจเจก แต่เราเชื่อว่าความสุขที่ยั่งยืน เป็นสุขที่ทุกคนร่วมสร้างและสุขสมไปกับผลลัพธ์ (Collective Happiness) เหล่านั้นร่วมกัน ด้วยเหตุนี้โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้หยิบยกเอาความสุขที่เรียบง่ายของคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม “มูลนิธิบ้านครูน้ำ” ภาคีของโครงการฯ ซึ่งเดินหน้าสร้างความสุขให้กับผู้คนแบบไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนมานำเสนอ ด้วยหวังว่าประสบการณ์ ข้อคิด และความสุขในการทำงานของพวกเขา จะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างความสุขแก่สังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งต่อไป   

Comments

Share Tweet Line