เชฟรอน และ สวทช. ผนึกกำลังเมกเกอร์ ในงาน ‘Maker Faire Bangkok 2019’

เชฟรอน และ สวทช. ผนึกกำลังเมกเกอร์ ในงาน ‘Maker Faire Bangkok 2019’
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรและ กลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดงาน “Maker Faire Bangkok 2019: WE ARE ALL MAKERS ปล่อยพลังเมกเกอร์ ในตัวคุณ” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของสุดยอดเมกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ยกขบวนผลงานของเมกเกอร์จากประเทศไทยและนานาประเทศมาเต็มความจุพื้นที่กว่า 70 บูธ พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อป DIY ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสวัฒนธรรมเมกเกอร์ด้วยตัวเอง เพื่อจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับคนไทย และสานต่อความสำเร็จของงานเมกเกอร์แฟร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” หรือประเทศแห่งนักพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา 
 
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. มีหน้าที่ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในหลายปีที่ผ่านมา “วัฒนธรรมเมกเกอร์” มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนในสาขาสะเต็ม (การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ผ่านการลงมือทำการทดลอง และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่นำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สวทช. เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมเมกเกอร์นักสร้างสรรค์นวัตกรรม ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของคนในชาติ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เกิดเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และหน่วยงานพันธมิตร ผ่านการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้เหล่าเมกเกอร์ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมกเกอร์ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความเป็นเลิศทางด้าน วทน. และก้าวเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างมั่นคงต่อไป”
 
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เป็นที่ยอมรับว่า ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ ผลงานของเมกเกอร์สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ประเทศต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวัฒนธรรมเมกเกอร์ รวมถึงประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘เมกเกอร์เนชั่น’ หรือ ‘เมืองแห่งนักพัฒนา’ ซึ่งเชฟรอนยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นี้ โดยร่วมกับ สวทช. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ภายใต้โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ส่งเสริมการพัฒนาของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในสังคมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ เพื่อเป็นเวทีให้เมกเกอร์ได้แสดงผลงานและแนะนำวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้กลายเป็นงานเมกเกอร์แฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน และการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของเมกเกอร์เยาวชนสายสามัญและอาชีพ ในโครงการ Young Makers Contest ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 399 ผลงาน นอกจากนั้นผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนไม่น้อยยังมีศักยภาพสามารถนำไปผลิตและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้จริง สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ หรือมีความเป็นเมกเกอร์อยู่ในตัวสูงมาก นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง”
 
สำหรับไฮไลต์สำคัญ ในงานมีการประกาศผลและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศใน โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียว” ของนักเรียนสายสามัญและอาชีวะ ซึ่งปีนี้ ผู้ชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ ผลงาน หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จาก โรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง ผลงานดังกล่าวออกแบบลักษณะคล้ายเรือที่ลอยบนผิวน้ำ มีกลไกเครื่องจักรที่ช่วยดึงและขจัดคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำได้ ออกแบบการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมและนำใช้งานจริงแล้ว 
 
ส่วน ผู้ชนะเลิศสายอาชีวะ ได้แก่ ผลงาน คลีน ฮอยสเตอร์ (CLEAN OYSTER) จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ได้ออกแบบเครื่องล้างหอยนางรม เพื่อลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย โดยใช้วิธีธรรมชาติของหอยนางรมเอง โดยใช้น้ำทะเลสะอาดมาใช้ทำความสะอาด รวมถึงดึงเมือกของเสียและแบคทีเรีย ด้วยเครื่องโปรตีนสกิมเมอร์ สำหรับน้ำที่ใช้สามารถแล้ว ยังสามรถนำกลับมาใช้ได้อีก ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ และได้นำไปใช้จริงแล้วในสถานประกอบการ โดยทั้ง 2 ทีมได่รับรางวัลมูลค่าทีมละ 500,000 บาท และได้สิทธิ์ไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ตามงาน Maker Faire Bangkok 2019 จัดขึ้นระหว่าง 19-20 มกราคม 2562 ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรีตลอดงาน โดยภายในงานมีทั้งการสาธิตผลงานบนเวทีกลางและลานกิจกรรม เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา รวมทั้งการแสดงผลงานของเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศกว่า 70 บูธ อาทิ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสมองกลฝังตัว ดนตรี อาหาร ศิลปะ งานไม้ งานโลหะ งานผ้า เป็นต้น ซึ่งผลงานที่ได้จัดแสดงทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจาก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. และกลุ่มเมกเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีขบวนอิเลคทริคพาเหรดที่มาในธีมกลองยาวเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อป DIY มากมายที่จะมาจุดประกายการเป็นเมกเกอร์ให้กับทุกคน และที่สำคัญก็คือ งานเมกเกอร์แฟร์ในปีนี้ถูกจัดขึ้นด้วยแนวคิดในการรณรงค์ลดการใช้วัสดุพลาสติกและกระดาษ การผลิตสิ่งของด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงพื้นที่การจัดงานในลานกว้างเพื่อใช้พลังงานแสดงจากธรรมชาติ 


REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line