14 วัน 1,500 กม. คนตาบอดปั่นสานฝัน “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน”

 14 วัน 1,500 กม. คนตาบอดปั่นสานฝัน “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน”

เป็นอีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองไทยที่จะต้องถูกบันทึกไว้ว่า “คนตาบอด” สามารถปั่นจักรยาน 14 วัน 15จังหวัด ระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร ได้สำเร็จ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การจัดกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปีที่ 2” ของ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” หลังจากที่พวกเขาเคยพิสูจน์ให้สังคมเห็นมาแล้วในครั้งแรกเมื่อปี 2561 ด้วยการปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางกว่า 867 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือเพื่อระดมทุนหาเงินก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว


จำนวนเงินที่ได้รับการบริจาคจากพี่น้องประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนั้น แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เป้าหมายของ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ในการสร้างงานให้กับคนพิการในวัยทำงานกว่า 6 แสนคนที่ยังว่างงาน ด้วยการก่อสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเชียงดาว” ซึ่งหากแล้วเสร็จจะเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอย่างครบวงจรระดับภูมิภาค ทั้งอาชีพด้านการเกษตร อาชีพด้านการบริการ และการท่องเที่ยว ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของผู้พิการ เพื่อเปลี่ยนผู้พิการที่สังคมมองว่าเป็นภาระให้กลายเป็นพลัง ร่วมสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 14 วัน 15 จังหวัด บนเส้นทางยาวไกลกว่า 1,500 กิเมตร ที่คณะนักปั่นตาบอดและอาสาสมัครปั่นจักรยานผ่านไปนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงให้สังคมไทยเห็นถึงศักยภาพ ความมุ่งมั่น และตั้งใจของผู้พิการแล้ว เสียงปรบมือให้กำลังใจจากพี่น้องประชาชนคนไทยตลอดสองข้างทาง และการหยิบยื่นพลังน้ำใจผ่านการบริจาคคนละเล็กคนละน้อย เพื่อมอบโอกาสในการพัฒนาตนเองให้กับผู้พิการได้แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของการไปสู่ “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแต่ละจังหวัดที่ขบวนนักปั่นผ่านไปจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการ และให้โอกาสผู้พิการรับรู้สิทธิต่างๆ ในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ซึ่งกิจกรรมปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 1 ได้รับเงินบริจาคมาแล้ว 32 ล้านบาท ดังนั้นกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” จึงต้องระดมทุนบริจาคอีก 118 ล้านบาท เพื่อที่จะนำไปใช้ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนให้แล้วเสร็จ ถึงแม้ยอดบริจาคครั้งนี้จะได้รับเพียง 6 ล้านบาท ห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก แต่ก็จะมองวิกฤตให้เป็นโอกาส  เส้นชัยในวันนี้ ก็ยังไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะต้องทำมันต่อไปให้ดีขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

“ทางมูลนิธิจะพัฒนาสร้างกิจกรรมที่จะสามารถเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของการสร้างการรับรู้โครงการและการระดมทุนบริจาค เส้นชัยในวันนี้ก็ยังไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะต้องทำมันต่อไปให้ดีขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ที่สำคัญคือกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของนักปั่นที่เป็นผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นทางการมองเห็นหรือการได้ยินว่า ที่จริงแล้วพวกเขาสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างและเป็นการแสดงถึงน้ำใจ จิตอาสาของนักปั่นที่มีร่างกายสมบูรณ์ปกติ และเพื่อเป็นการระดมทุน เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพแก่ผู้พิการซึ่งนับว่าเป็นการทำบุญมหาชน"”

สำหรับ “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” นั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่มองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว ทางมูลนิธิฯ จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” และนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือ และมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับว่าได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง

“การเกิดขึ้นของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว บนพื้นที่มากถึง 33 ไร่ นอกจากการใช้เป็นสถานที่ฝึกฝนอาชีพทางด้านการเกษตรต่างๆ แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือการฝึกอาชีพด้านการบริการและงานโรงแรม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงพัฒนาสายอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้ในท้องถิ่น ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับทุกคนหรือ tourism for all ถ้าหากก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถฝึกอาชีพผู้พิการในสาขาอาชีพต่างๆ ได้มากกว่า 1 พันคนต่อปี ไม่รวมกับผู้ดูแล และที่ผ่านมายังพบว่ามีผู้พิการอีกเป็นจำนวนมากมีศักยภาพ มีความรู้ และความสามารถในการเป็นผู้นำคนพิการ ที่พร้อมจะช่วยยกระดับให้บ้านของตนเองนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับพื้นที่เพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้เรื่องอาชีพต่างๆ ให้กับผู้พิการชุมชนท้องถิ่นที่ห่างไกลได้ ซึ่งจะทำเกิดการขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้พิการที่รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าวย้ำ

ซึ่งการเกิดขึ้นของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนพิการที่ว่างงานและต้องการโอกาสในการเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะอาชีพที่ตนเองสนใจและมีความถนัด เพื่อที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีรายได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของคนอื่นแล้ว ยังช่วยให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการที่อยู่ใกล้เคียงในพื้นที่ตั้งของศูนย์ฯ ด้วยการเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอาชีพฯ ผ่านการจ้างงานตามมาตรา 33, 35 หรืออาชีพอิสระ ที่นอกจากจะช่วยให้พวกผู้พิการเหล่านั้นมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว ยังสามารถสร้างความภาคภูมิใจ รับรู้ถึงศักยภาพ และคุณค่าในตัวของตัวเองที่คนในสังคมไทยร่วมกันมอบโอกาสให้

น.ส.เจริญ เที่ยงตรง หรือ “พี่ติ๋ว” วัย 50 ปี เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอจนต้องนั่งรถเข็นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เรียนเพียงแค่จบชั้น ป.4 เล่าให้ฟังว่าไม่เคยทำงานมีอาชีพที่แน่นอนแบบนี้มาก่อน ปกติก็ทำแต่งานบ้าน อยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกไปไหน เมื่อถูกชักชวนให้ออกมาทำงานนอกบ้าน สิ่งแรกเลยก็คือกลัว กลัวสายตาของคนอื่นๆ ว่าเขาจะมองเรายังไง กลัวว่าเขาจะรังเกียจคนพิการอย่างเราไหม แต่สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือกลัวว่าเราจะเป็นภาระของคนอื่น

“ที่ผ่านมาไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนพิการมีสิทธิ์ตามมาตรา 33-34-35 เพราะอยู่แต่ในบ้าน แต่หลังจากไปเข้ารับการอบรมและไปดูงานที่เชียงใหม่ก็มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น รู้จักคนเยอะขึ้นทั้งคนปกติและเพื่อนๆ ที่เป็นคนพิการ และรู้สึกดีใจที่ได้มาทำงานที่ศูนย์ฯ ได้มีเงินเดือนช่วยเหลือเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระครอบครัว และยังได้ทำงานต่างๆ ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้เรียกได้ว่าสังคมไทยให้โอกาสและยอมรับในความสามารถของผู้พิการมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องสถานที่ ถนนหนทาง ทางลาด ห้องน้ำสาธารณะ แม้จะยังน้อยอยู่แต่ก็ดีขึ้นมากกว่าในอดีต”

ด้าน น.ส.ผานิต จีนสายใจ หรือ “พี่ไก่” อายุ 56 ปีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ นครชัยศรี ตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นผู้พิการจากโรคโปลิโอมาตั้งแต่เด็ก เล่าไปในทำนองเดียวกันว่า ที่ผ่านมาก็ทำงานรับจ้าง แกะดอกรักหรือขายของเล็กๆ  น้อยๆ อยู่ที่บ้าน พอถูกชวนให้มาทำงานก็ปฏิเสธ เพราะเป็นคนพิการคงไม่สะดวกเดินทาง ไหนจะเรื่องห้องน้ำอีก ที่สำคัญคือว่ากลัวว่าจะต้องไปเป็นภาระของคนอื่น ที่ไม่รู้ว่าเขาเต็มใจที่จะช่วยเราหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาส่วนใหญ่ของคนพิการที่ทำให้เขาอยากที่จะอยู่บ้าน

“การได้มาทำงานตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าตัวเราเองนั้นมีคุณค่า มีความสามารถที่จะทำงานได้ ที่สำคัญพอได้ออกมาทำงานแล้วสนุก ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ไม่เหงาเหมือนอยู่บ้าน ทางครอบครัวที่บ้านก็สนับสนุนไม่ปิดกั้นโดยจะขับรถมอเตอร์ไซค์มารับมาส่งทุกวัน แล้วก็อยากให้คนพิการคนอื่นๆ ได้รับรู้สิทธิ์ของตนเอง และได้โอกาสแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งดีกว่าการรอรับเงินคนพิการจากรัฐ เพราะเรามีรายได้เป็นของตนเอง พึ่งพาตนเองได้”

“ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้พิการ และร่วมกันมอบโอกาสเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทั่วประเทศ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน ด้วยการการบริจาคเงินสมทบทุนการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เชียงดาว ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวสรุป.

Comments

Share Tweet Line