คณะครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ศึกษาศาสตร์พระราชา ที่อ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี

คณะครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ศึกษาศาสตร์พระราชา ที่อ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษ สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี และมูลนิธิธรรมดี ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา จัดกิจกรรม “ตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราช ศึกษาศาสตร์พระราชา อ่าวคุ้งกระเบน”  เยือนถิ่นบูรพา ตามรอยประวัติศาสตร์ กราบสักการะพระเจ้าตากสินมหาราช เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โดยนำคณะครูผู้สอนภาษาอังกฤษกว่า 30คน พร้อมคณะจิตอาสา ลงพื้นที่ 1 ใน 9 เส้นทางแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี เพื่อเรียนรู้ คิดค้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในรูปแบบใหม่นอกตำรา นำประสบการณ์จากกิจกรรมไปขยายผลกับเพื่อนครูและนักเรียน พร้อมทั้งปลูกฝังคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา


นางวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยปณิธานของทิพยประกันภัยในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม บริหารงานภายใต้หลักธรรมมาภิบาลโดยมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการให้ความช่วยเหลือ พัฒนา และรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อความเจริญยั่งยืนของสังคมไทย และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านโครงการตามพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการทั่วประเทศ อีกทั้งได้พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่คนไทย ทิพยประกันภัย จึงได้ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา จัดกิจกรรม “ทิพยตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราช ศึกษาศาสตร์พระราชา อ่าวคุ้งกระเบน”  เยือนถิ่นบูรพา ตามรอยประวัติศาสตร์ กราบสักการะพระเจ้าตากสินมหาราช เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ณ จังหวัดจันทบุรี ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ประเมินค่ามิได้

กิจกรรม “ตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราช ศึกษาศาสตร์พระราชา อ่าวคุ้งกระเบน” จังหวัดจันทบุรี เริ่มด้วยพิธีบวงสรวงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ค่ายตากสิน ด้วยวันที่ 17 เมษายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชาวจันทบุรีถือว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดจันทบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 และสามารถกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้อีกครั้ง โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือเอกประเจตน์ ศิริเดช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ แพทย์หญิง คุณหญิงนงนุช ศิริเดช รองประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม นายบุญช่วย น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ดร.ปนีตา นิตยาพร นายกสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะครูและจิตอาสา ร่วมในพิธี

ต่อด้วยการนำคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งได้ก่อตั้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลจันทบุรี โดยได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน  ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากนายนเรศ แสงอรุณ นักประชาสัมพันธ์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน กล่าวต้อนรับพร้อมทั้งอธิบายภาพรวมกิจกรรมแต่ละฐานในการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาและคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ได้แก่ ฐานงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประมง ทำกิจกรรมแซะไข่ปูม้า ทำซั้งเชือกสร้างบ้านให้ปลา และป้อนอาหารปลาฉลามเสือดาว เพื่อเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความยั่งยืนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ระหว่างคนกับธรรมชาติ และฐานการปลูกต้นไม้ป่าชายเลน เรียนรู้เรื่องของการมีจิตอาสา การมีวินัย ความเพียรพยายาม รู้จักถนอมโลกและสิ่งแวดล้อม

จากนั้นเป็นการถอดบทเรียนจากกิจกรรมตามรอยพระราชาที่ได้เรียนรู้ด้วยการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง โดยผู้บริหารสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการถอดบทเรียน และสร้าง Interactive Board จากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูสอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศ

ดร.ปนีตา นิตยาพร นายกสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทริปนี้เป็นการทัศนศึกษาที่ผสมผสานความรู้และความสนุก เพื่อเปิดโอกาสให้คุณครูได้ซึมซับ เข้าใจและเข้าถึง “ศาสตร์พระราชา” อีกทั้งยังสร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันเคล็ดลับการสอนเยาวชนยุค 4.0 และเป็นโอกาสในการปรึกษาปัญหาการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความสุขในการเรียนรู้อย่างยั่งยืน รวมถึงต่อยอดการสอนในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีความกล้าแสดงออกและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยความมั่นใจ

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ในฐานะผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวปิดท้ายว่า “ทริปตามรอยพระราชา” ครั้งนี้ คุณครูทุกท่านจะได้รับคู่มือการเรียนรู้ควบคู่การท่องเที่ยวตามรอยพระราชา และชุดหนังสือ King Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ประกอบด้วยหนังสือพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ตามรอยพระราชา และได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์ท่านในรูปแบบภาษาอังกฤษ ได้เรียนรู้คำราชาศัพท์ คำเฉพาะ ชื่อโครงการพระราชดำริต่าง ๆ รวมถึงพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน อีกทั้งหนังสือชุดนี้ยังมีแบบฝึกหัด และคำศัพท์ท้ายเล่ม เพื่อความสะดวกในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในรูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับเยาวชนในยุค 4.0

ชุดหนังสือ King Bhumibol Adulyadej of Thailand ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม คือ 1. From Prince to King กล่าวถึงพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์ เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักถึงความรักและความห่วงใยที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย 2. Strength of the Land เล่าถึงพระราชกรณียกิจอันเหนื่อยยากที่ทรงปฏิบัติเพื่อยังคุณประโยชน์นานัปการแก่ประเทศไทย เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ 3. By the Light of Your Wisdom เน้นพระบรมราโชบาย พระราชกรณียกิจสำคัญ และแนวพระราชดำรัสที่เปรียบเสมือนแสงประทีปส่องสว่างกลางใจคนไทยทั้งมวล เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำรงชีวิตแก่ผู้อ่านต่อไป

โครงการ “ตามรอยพระราชา” ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมูลนิธิธรรมดี สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี และธรรมดีทัวร์ โดยครั้งที่หนึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2561 ตอน “ทิพยตามรอยพระราชา” นำเยาวชน 30 คนที่ผ่านการบรรพชาสามเณรในโครงการปลูกต้นกล้ายาตราพุทธภูมิ  ร่วมเดินทางสู่ 1 ใน 9 เส้นทางแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพฯ และชุมชนบ้านศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และครั้งที่สอง จัดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ตอน “5 ธันวา ตามรอยพระราชา บ้านศาลาดิน คลองขุดแห่งศรัทธา กับศาสตร์พระราชาเพื่อความยั่งยืน”  ณ ชุมชนบ้าน ศาลาดิน จังหวัดนครปฐม

โครงการ “ตามรอยพระราชา” นำเสนอเส้นทางศึกษาเรียนรู้ 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และองค์กรต่างๆ ร่วมเดินทางลงพื้นที่เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยและเป็นแบบอย่างของคนทั่วโลก โดยมีกิจกรรมเสริมทักษะภายในพื้นที่โครงการต่างๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชน และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรอย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line