ที่หนึ่งบนโลกธุรกิจยุคไว-ไฟ (Wi-Fi )

ที่หนึ่งบนโลกธุรกิจยุคไว-ไฟ (Wi-Fi )

ดูเหมือนการนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องต่อกับสายแลน หรือเริ่มต้นหมุนโมเด็มผ่านสายโทรศัพท์เพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางการรับ-ส่งข้อมูลที่ความเร็วระดับกิโลบิตต่อวินาที(kilobit per second ) ดูเป็นภาพที่ไกลตัวเราออกไปทุกทีเมื่อเทียบกับวิถีของผู้คนยุคดิจิทัลซึ่งพร้อมท่องโลกออนไลน์ได้ทุกวินาที ด้วยอุปกรณ์ที่พกติดตัวไปได้ทุกที่ อย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต อุปกรณ์ไอโอที หรือ ไอทีส่วนตัว (BYOD) ผ่านเครือข่ายไร้สาย อย่างบลูทูธ ไว-ไฟ 4G ที่กำลังกลายเป็น 5G ในอีกไม่ช้า


ไอดีซีบอกกับเราว่า ในปี 2564 เทคโนโลยี 5G รวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อรองรับระบบเครือข่ายไร้สาย กำลังพัฒนาตัวเองให้ก้าวข้ามข้อจำกัดของ 4G ทั้งในเรื่องขนาดของแบนด์วิธรับ-ส่งได้เร็วขึ้น และด้วยปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น แต่กินไฟต่ำลง รวมถึงอาจสามารถรองรับการใช้งานไอโอที ( Internet of Things : IoT )ได้ถึง 1 ล้านชิ้นต่อขนาดพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งทำให้ 5G เป็นตัวผลักดันให้เกิดการใช้งานไอโอทีที่มากขึ้นเป็นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

การคาดการณ์ของไอดีซีคงพอให้เราจินตนาการภาพองค์กรที่ต้องเผชิญวิกฤตปริมาณ และปัญหาที่เกิดจากการใช้งานอุปกรณ์ไอโอทีและอุปกรณ์ไอทีส่วนตัวจากในและนอกองค์กรมากกว่าที่เคยเป็นมา  มีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่ต้องลงทุนติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สาย และอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณไว-ไฟ (Wireless Access Point) นอกเหนือจากเครือข่ายแบบใช้สาย กระจายตามจุดต่าง ๆ ให้พร้อมรับมืออุปกรณ์ไอโอที หรือไอทีส่วนตัว ซึ่งเคลื่อนที่เปลี่ยนทางอยู่ตลอดเวลา  การออกแบบเครือข่ายที่ต้องรองรับอุปกรณ์ทั้งเก่าและใหม่ภายใต้ระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน รวมถึงการกำกับการใช้งานที่ต้องคำนึงถึง “การกระจายสัญญาณไว-ไฟได้แรงและเร็วแบบไม่สะดุด และมีความปลอดภัยสูง” เป็นหัวใจสำคัญ

สิ่งหนึ่งที่องค์กรควรรู้ คือ บริบทของการพัฒนาระบบเครือข่ายได้เปลี่ยนไปแล้ว ในอดีต การสร้างระบบเครือข่ายขึ้นมาสักระบบหนึ่ง เราจะพูดถึงเรื่องของ “เราเตอร์ สวิตซ์ โมเด็ม หรือสายแลน”ทั้งหมดก็เพื่อให้ “คอมพิวเตอร์คุยกันได้” สามารถส่งหรือแชร์ใช้ข้อมูลหรือแอปพลิเคชันเฉพาะการทำงานในองค์กรได้  แต่ปัจจุบัน มนุษย์กลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร และเครือข่ายไร้สายถูกใช้เป็นช่องทางสำคัญ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ “คนมาสื่อสารกัน” การพัฒนาระบบเครือข่ายให้ใช้งานได้ครอบคลุม กว้างขวางขึ้น จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเพิ่มเติมในเรื่องของ  “ผู้ใช้งาน (Users) อุปกรณ์ (Things) แอปพลิเคชัน (Applications) และ ตำแหน่งแห่งที่ (Locations)”  รวมถึงต้องมีความชาญฉลาดพอในการ วิเคราะห์ (Analytics) และต้องมีการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automatic) นั่นหมายถึง การพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการใช้งานในปัจจุบันและอนาคตนอกจากจะเป็นไปเพื่อ “เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในองค์กร (Business Process)” แต่ยังต้องสามารถตรวจสอบการป้อนกลับข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวผู้ใช้หรือพฤติกรรมของผู้ใช้ เห็นเครื่องมือหรือสิ่งที่พวกเขาใช้ในการสื่อสาร เห็นแอปพลิเคชันที่ใช้งาน และระบุพิกัดได้แม่นยำว่า กำลังสื่อสารมาจากที่ไหน ณ ตำแหน่งใด เพื่อนำไปคิด วิเคราะห์ ต่อยอดไปเป็น “บริการทางธุรกิจ (Business Services)” ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รายได้ หรือสร้างประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจให้กับลูกค้า

ตัวอย่างเช่น  ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือไอโอที ซึ่งเก็บได้จากอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณไว-ไฟ ขณะเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้า ช่วยให้ฝ่ายขายและการตลาดสามารถนำมาวิเคราะห์ และคัดเลือกกิจกรรมกระตุ้นยอดขาย อาทิ ล่วนลดในการซื้อสินค้า การนำเสนอสินค้าที่จำหน่ายในราคาพิเศษ หรือบริการที่โดนใจป้อนกลับได้ถึงตัวลูกค้าโดยตรง และเกิดขึ้นแบบทันท่วงที ( Real time ) มากขึ้น รวมถึงเป็นการเตรียมการล่วงหน้าในการนำเสนอแคมเปญการขายที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าไว้สำหรับการมาช้อปปิ้งในครั้งต่อไป  การพัฒนาแอปพลิเคชันไว้อำนวยความสะดวกในการค้นหาเส้นทาง (Way Finding) ของร้านอาหาร หรือร้านค้าที่โปรดปรานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการทันทีที่ลูกค้าเริ่มกิจกรรมเช็คอินขึ้นเฟซบุ๊ค(facebook application) หรือแอปออนไลน์ ( shopping online application ) อื่นใด  ณ พิกัดเกิดเหตุ  หรือกระทั่งแค่การให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว-ไฟ ชนิดไม่ต้องเพิ่มแอปพลิเคชันใด ๆ ก็กลายเป็นหนึ่งในจุดขาย หรือเป็นบริการธุรกิจภาคบังคับในสถานให้บริการต่าง ๆ ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือสนามบินทั่วโลก

นอกจากนี้ ความเก่งกาจของอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณไว-ไฟ รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถให้บริการแอปพลิเคชัน หรือ แบนด์วิธที่ตอบสนองโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต อุปกรณ์ไอโอที หรือไอทีส่วนตัว โดยไม่ติดว่า จะเป็นเทคโนโลยีแบบไหน หรือระบบปฏิบัติการ ( Operating system software : OS )ค่ายใด เท่ากับเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดการให้บริการซึ่งเกิดจากความแตกต่างทางเทคโนโลยีออกไปได้  ความสามารถในการระบุพิกัด หรือตำแหน่งที่ตั้งของผู้ใช้ (Location) ที่ช่วยองค์กรในการติดตามพฤติกรรมการใช้สินทรัพย์ด้านข้อมูลขององค์กรจากกลุ่มที่ชอบใช้โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ไอทีส่วนตัว ซึ่งอาจนำพาความเสี่ยงอื่นใด ๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากโลกภายนอกเข้ามาสู่เครือข่ายขององค์กรได้ตลอดเวลา เพื่อนำมาทำแผนปรับปรุงระบบความปลอดภัยที่เหมาะสมต่อไป

ปัจจุบัน บริษัทผู้นำการพัฒนาเทคโลยีเครือข่ายหลาย ๆ ค่าย อาทิ เอชพีอี อรูบ้า ( HPE aruba) ได้เร่งยกระดับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การบริหารจัดการระบบเครือข่ายมีประสิทธิภาพและเป็นอัตโนมัติยิ่งขึ้น ซึ่งขอยกมาพอสังเขป อาทิ การพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณเครือข่ายไร้สาย จากมาตรฐาน 802.11ac ไปเป็น 802.11ax หรือ “ไว-ไฟ 6”  ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมถึง 4 เท่า และรองรับการทำงานได้ทั้งคลื่นความถี่ 2.4 MHz และ 5 MHz  ฟังก์ชันอย่าง OFDMA (Orthogonal Frequency Division Multiple Access) ในการจัดสรรปันส่วนแบนด์วิธ หรือกำหนดช่องทางจราจรที่เหมาะกับพฤติกรรมลูกค้าได้หลากหลาย ทั้งการรับ-ส่งข้อมูลหน่วยย่อย ๆ (Small Data Packets) เช่น แชทไลน์ สติกเกอร์ไลน์ การส่งสัญญาณเซ็นเซอร์จากอุปกรณ์ไอโอที ซึ่งสามารถวิ่งบนความเร็วและแบนด์วิธที่ไม่สูงมากนัก เพื่อปันส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าไปใช้กับการรับ-ส่งข้อมูลหน่วยที่ใหญ่ขึ้น เช่น ภาพนิ่ง คลิ๊ปเสียง วีดีโอเกมส์ โดยยังคงประสิทธิภาพในการให้บริการอุปกรณ์ได้หลายประเภท หรือได้มากถึง 8 เครื่อง ในเวลาเดียวกัน

การพัฒนาซอฟต์แวร์เอสดีเอ็น (Software Defined Network – SDN) ที่เข้ามาช่วยจัดการการทำงานของเครือข่ายเพื่อรองรับการใช้งานอุปกรณ์ไอโอที หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติจากจุดเดียว แอปพลิเคชันที่ว่าก็อย่างเช่น วีอาร์ การส่งภาพสามมิติ  ซึ่งเป็นย่นระยะเวลาในการจัดการกับปัญหาให้เร็วขึ้น การยกระดับ มาตรฐานความปลอดภัยในการเชื่อมต่อเครือข่ายไว-ไฟ WPA 7  โดยการเข้ารหัส  หรือ การพัฒนาอุปกรณ์สวิตซ์แบบเปิด เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานของอุปกรณ์ต่างระบบปฏิบัติการ  ต่างเทคโนโลยี หรือแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อในเครือข่ายให้ทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ เป็นต้น

เมื่อมาตรฐานทางเทคโนโลยีเครือข่ายเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้ามีความต้องการเข้าถึงข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และต่างก็มีความคาดหวังในการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ตอบสนองได้รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง การออกแบบระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ณ ปัจจุบัน และในอนาคต จึงไม่ใช่การปลดล็อคในเรื่องของความเร็วแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพร้อมสนับสนุนการเข้าถึงการใช้งานที่ปลอดภัยให้ได้ในทุกกรณี ตลอดจนสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาบริการทางธุรกิจที่แตกต่างแต่โดนใจ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สร้างทั้งโอกาสและความได้เปรียบทางการแข่งขันให้องค์กรสามารถยืนเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ และเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าไปอีกนาน

นายสุภัค  ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

Comments

Share Tweet Line