พหุวัฒนธรรม 3 ชาติพันธุ์ “แง่งาม” ของเกาะเกร็ด

พหุวัฒนธรรม 3 ชาติพันธุ์ “แง่งาม” ของเกาะเกร็ด

ในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเกาะเกร็ด เรามักจะได้ยินหรือสัมผัสความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของคนไทยเชื้อมอญ รองลงมาคือ วิถีของไทยพุทธ ซึ่งเห็นได้ชัดจากศาสนสถานที่มีถึง 5 แห่ง คือ วัดไผ่ล้อม วัดเสาธงทอง วัดปรมัยยิกาวาส วัดศาลากุล และ วัดฉิมพลีสุทธาวาส โดยทั้ง  5 วัดก็เป็นวัดที่สร้างโดยคนมอญ ซึ่งสังเกตได้จากเสาหงส์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ


และด้วยจำนวนคนไทยเชื้อสายมอญที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของคนมอญบนเกาะเกร็ดมีความโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น เช่น ในวันสงกรานต์ ที่นี่จะมีการแห่ข้าวแช่ แห่น้ำหวาน ทำบุญกลางบ้าน รำเจ้า เล่นสะบ้าทะแยมอญ นอกจากนี้ยังมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง รำมอญ ตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรทางน้ำ การเล่นเพลงเจ้าขาว ระบำบ้านไกล ปี่พาทย์มอญเกาะเกร็ด  ลอยกระทง ตักบาตรพระร้อยแปด

อย่างไรก็ตาม บนเกาะเล็ก ๆ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 วันก็เดินรอบเกาะ ยังมีกลุ่มไทย - มุสลิมตั้งถิ่นฐานมานานหลายร้อยปี ซึ่งสัญญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าบนเกาะเกร็ดมีอิสลามอาศัยอยู่ คือมัสยิดญาซีรอตุ้ลญันนะห์ ในหมู่ 2 และ หมู่ 3 

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า “เกาะเกร็ด”  มีความเป็นพหุวัฒนธรรมของ 3 เชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลี่ยวแน่นแฟ้นมาเนิ่นนาน   หากแต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำเสนอภาพของคนไทยเชื้อสายอิสลามอย่างชัดเจน

“เราอยู่ที่นี่มานาน และเราอยากจะบอกว่าที่นี่ไม่ได้มีแค่ ไทยกับมอญเท่านั้น แต่ยังมีพวกเรา ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายอิสลามอยู่ด้วย” เป็นความในใจของ ศศินา จิตลลิตหญิงชาวอิสลาม นักวิจัยชุมชน หนึ่งในคณะกรรมการพหุวัฒนธรรมฯ ที่พยายามจะสื่อสารไปถึงคนภายนอกและนักท่องเที่ยวถึงความมีอยู่ของอีกหนึ่งชาติพันธุ์ที่สำคัญบนเกาะเกร็ด

ศศินา เล่าว่า มุสลิมหลายคน มีเชื้อสายมอญรามัญ  และมีไม่น้อยที่หันมานับถือศาสนาอิสลามในภายหลัง  

“และการประกอบศาสนกิจที่นี่ก็เป็นไปอย่างเคร่งครัด เช่น การละหมาด การนิกะฮ์หรือการแต่งงานแบบอิสลาม มีอาหารฮาลาล มีการถือศีลอด ไม่มีก็เฉพาะแต่วัฒนธรรม หรือ ประเพณีที่เป็นการแสดงออกในลักษณะการละเล่น ทำให้วิถีของคนอิสลามที่นี่เรียบง่ายไมหวือหวาอย่างคนไทยเชื้อสายมอญ”

“3 ชาติพันธุ์” ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของเกาะเกร็ด

อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมาทั้ง 3 เชื้อชาติจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูล ร่วมไม้ร่วมมือในการพัฒนาและบำรุงทุกข์สุขร่วมกันมาตลอด แต่ลึก ๆ แล้วต่างก็คาดหวังให้เกิดภาพของพหุวัฒนธรรมขึ้นอย่างชัดเจน เป็นช่องทางให้เกิดงานวิจัยแนวทางการจัดการกิจกรรมทางวัฒนธรรมแบบพหุวัฒนธรรมเกาะเกร็ดผ่านการบูรณาการอัตลักษณ์ร่วม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน งานวิจัยเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผลจากการทำงานร่วมกันของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ และนักวิจัยชาวบ้าน ก่อให้เกิด “กลไก” การทำงานร่วมกัน ของนักวิจัยชุมชนจากทั้ง 3ชาติพันธุ์ ในนาม “คณะกรรมการสร้างสรรค์อัตลักษณ์พหุวัฒนธรรมร่วมเกาะเกร็ด”  ซึ่งมีการประชุมร่วมกันครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งทำให้ได้เห็นถึงความพยายามของคนไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายมอญ ที่พยายามทลายกำแพงทางด้านศาสนา ซึ่งเป็นงานยากและค่อนข้างละเอียดอ่อน อักทั้งยังเห็นความพยายามในการใช้ใจดึงเอา “เงื่อนปม” ที่คนทั้ง 3เชื้อชาติต้องการจะมอบเกียรติและความสำคัญให้กันและกันอยู่ ออกมาคลี่คลาย กลายเป็นรูปธรรม เชิงสัญลักษณ์ผ่านการแสดงทางวัฒนธรรม และนำเสนอให้ผู้คนได้รับรู้เป็นครั้งแรก ในงาน “พหุวัฒนธรรม 3 ชาติพันธุ์ เกาะเกร็ด” เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับประเพณีการแห่น้ำหวานเข้าวัดที่จัดเป็นประจำทุก ๆ ปีของชาวไทยพุทธและมอญบนเกาะเกร็ด

“พี่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ แต่ก็คิดอยู่เสมอว่า อยากให้คนอิสลามบนเกาะเกร็ดได้มีพื้นที่ร่วมแสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตนของเขาบ้าง เพราะเราอยู่กันแบบ 3 เชื้อชาติแบบนี้มานาน ครั้งนี้ได้มีอิสลามได้มาร่วมแสดงกับเราดูมันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้น เป้าหมายสูงสุดที่อยากเห็นคือ เราจะทำงานร่วมกันแบบนี้ไปตลอดทุก ๆ เรื่อง ซึ่งมันบ่งบอกถึงความรักความสามัคคีของคนเกาะเกร็ดว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันได้ อย่างสันติสุข” กัลยารัตน์ สินสืบผล รักษาการสมาชิก อบต. เกาะเกร็ดหมู่ 7 หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และคณะกรรมการสร้างสรรค์อัตลักษณ์พหุวัฒนธรรมร่วมเกาะเกร็ด เล่าถึงความรู้สึกหลังจากได้เห็น การแสดงลิเกฮูลูของเด็ก ๆลูกหลานคนไทยเชื้อสายอิสลามได้มาร่วมแสดงบนเวทีเดียวกันกับอีก 2 ชาติพันธุ์ในงานการแสดงสื่อสารพหุวัฒนธรรม และตรงกับวันงานแห่น้ำหวานเข้าวัด

“พี่เคยพูดเสมอว่า เกาะเกร็ดไม่ได้มีแค่ 2 เชื้อชาติเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีไทยมุสลิมอาศัยอยู่ด้วยซึ่งที่ผ่านมาคนมักเข้าใจว่าที่นี่ มีแค่ไทยพุทธ กับไทยรามัญ หรือมอญ เพราะสื่อการแสดงออกใด ๆ ก็ตามในงานสำคัญ ๆ ต่างๆ มักจะมีแค่พุทธกับมอญเท่านั้น แต่พอมีคณะกรรมการสร้างสรรค์อัตลักษณ์พหุวัฒนธรรมร่วมเกาะเกร็ดซึ่งได้รับคัดเลือกมาจากจิตอาสาของทั้ง 3 เชื้อชาติ ให้เข้ามาทำงานวิจัยเชิงพื้นที่กับจิราณีย์ พัมมูล อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ทำให้พวกเราได้คุยกันมากขึ้น ทำให้เห็นความรักความสามัคคีของพวกเรา บอกเลยว่าไม่ใช่ว่าไทยพุทธ หรือมอญไม่สนใจพวกเราที่เป็นมุสลิม แต่พวกเราที่เป็นมุสลิมเองก็ต้องเปิดใจและเดินออกมาทำงานร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องงานพัฒนาและความร่วมมือเรามีกันอยู่แล้ว แต่ในด้านของวัฒนธรรมนี่เป็นครั้งแรกที่มุสลิมเกาะเกร็ดออกมาเปิดตัวให้กับสังคม

ซึ่งเราก็จะยืนยันว่าเราจะทำงานร่วมกันบนกรอบศาสนาที่เราทำได้เท่านั้น อย่างกรณี งานแห่น้ำหวานเข้าวัด ทางไทยพุทธกับมอญเขาก็ให้เกียรติเราอยากให้เราไปร่วมขบวนด้วย แต่เราพิจารณาแล้วว่าพิธีแห่น้ำหวานเข้าวัดเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งทางเราเข้าไปร่วมขบวนด้วยไม่ได้ แต่พี่ก็เชิญชวนคนรุ่นหลังมาร่วมการแสดงบนเวทีเท่านั้น ที่เป็นลานพหุวัฒนธรรม รู้สึกดีใจ และคิดว่าจะไม่ใช่มีครั้งแรกแล้วจบ พี่จะพยายามผลักดันให้เด็กๆ อิสลามได้มีพื้นที่ในการแสดงแบบนี้ต่อไป” ศศินา เล่าด้วยความปลาบปลื้ม

นี่คือหนึ่งในความเคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลกระทบผ่านตัวตน อันเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานวิจัยแนวทางการจัดการกิจกรรมทางวัฒนธรรมแบบพหุวัฒนธรรมเกาะเกร็ดผ่านการบูรณาการอัตลักษณ์ร่วม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างพหุวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของ 3 ชาติพันธุ์บนเกาะเกร็ด

Comments

Share Tweet Line