เทศบาลนครเชียงใหม่ พัฒนาศูนย์วิทย์ฯให้โรงเรียนในสังกัด ต่อยอดการเรียนรู้

เทศบาลนครเชียงใหม่ พัฒนาศูนย์วิทย์ฯให้โรงเรียนในสังกัด ต่อยอดการเรียนรู้

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแก้ปัญหาความยากจนที่ต้นเหตุคือการส่งเสริมด้านการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กเพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวในอนาคต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเลื่อมล้ำในสังคมด้านการศึกษากลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในแต่ละพื้นที่ไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสมเท่าที่ควร


เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อยกระดับการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาล โดยร่วมมือกับสถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น เปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Hands on  ที่มีต้นแบบจากประเทศเยอรมัน มาพัฒนาภายในโรงเรียน โดยได้ทำพิธีเปิด โดย นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธาน พร้อมจัดอบรมวิธีการใช้งานให้กับครูและนักเรียน ณ โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย เมื่อเร็วๆ นี้ 

นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาล มีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าอีกหลายๆ โรงเรียน ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย โอกาสที่เด็กจะประสบความสำเร็จก็จะยากมาก กลายเป็นวงจรของความยากจนไปเรื่อย ๆ พอเด็กมีโอกาสน้อย โอกาสได้งานดี ๆ ก็น้อย ก็กลายเป็นวงจรเดิม ๆ ไม่จบสิ้น ฉะนั้นการจะให้เด็กกลุ่มนี้พ้นออกมาให้ได้ คือการให้การศึกษา จึงเป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับโอกาสให้มากที่สุด ซึ่งโอกาสเหล่านี้มาจากเทคนิคการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์ที่ดีมีคุณภาพ ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กให้ได้มากที่สุดนั่นเอง โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญ เราจึงเลือกพัฒนาด้านนี้ โดยสื่อและอุปกรณ์ที่นำมาพัฒนานี้เราให้ครูผู้สอน รวมถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกเปรียบเทียบหลายๆ ที่พบว่าศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Hands on โดยสถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น เป็นสื่อที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรา ที่ไม่ต้องการให้เด็กท่องจำแต่เน้นการปฏิบัติและลงมือทำจนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง แน่นอนว่าพอเด็กได้ลงมือทำย่อมดีกว่าได้ท่องจำจากตัวหนังสืออย่างเดียว ซึ่งเราหวังว่าเด็กของเราจะมีทักษะการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ที่ส่งผลไปสู่การมีคะแนนสอบที่ดีขึ้น ผมตั้งเป้าว่าเป้าหมายแรกคืออย่างน้อยมีคะแนนไม่ตกอันดันของระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพราะว่าอย่างไรก็ตามเด็กก็ต้องใช้คะแนนสอบเพื่อไปเรียนต่อในที่ต่าง ๆ อันดับที่สองก็แน่นอนว่าอยากให้เด็กๆ มีทักษะการลงมือปฏิบัติจนเกิดความรู้ความเข้าใจและความรู้เหล่านั้นจะติดตัวไปตลอดชีวิต สรุปคือ คาดหวังว่าเด็กๆ มีทักษะที่ดีและส่งผลสู่การสอบที่ได้คะแนนดีครับ”

ด.ช.เขมทัต นิราศนภาภัย หรือน้องไนท์ อายุ 13 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย เผยว่า “ผมชอบเรื่องเกี่ยววิทยาศาสตร์ เพราะมีความสนุกและท้าทายให้เราค้นหาคำตอบอยู่ตลอด พอมีศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Hands on มาที่โรงเรียนถือเป็นสิ่งใหม่ที่ผมยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน รู้สึกตื่นเต้นมาก หลังจากที่ได้ทดลองเล่นแล้วสนุกมากครับ เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีคำอธิบาย ทำให้ผมและเพื่อนต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ บ้างก็ตั้งข้อสังเกตุ คาดเดาความน่าจะเป็น ไม่มีถูกไม่มีผิด รู้สึกท้าทายมากครับ อีกอย่างคือแตกต่างจากในห้องเรียน ที่เราไม่ต้องนั่งฟังอย่างเดียว ต้องขอบคุณทางเทศบาลนครเชียงใหม่มากๆ ครับ ที่นำสิ่งดีๆ มาให้กับพวกเราได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ มีประโยชน์ต่อพวกเรามากเลยครับ”

ด.ญ พิมพ์กมล ประเลา หรือ น้องเนย อายุ 13 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย “โดยส่วนตัวชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ คิด วิเคราะห์หลายๆ อย่างและน่าตื่นเต้นกับผลลัพท์ที่ออกมา เป็นวิชาที่สนุกมาก เมื่อทราบว่าทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้นำศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเฟโนเมนต้า มาสร้างให้ที่โรงเรียน รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่หนูไม่ได้เคยเห็นมาก่อน ไม่มีคำอธิบาย ซึ่งกระตุ้นให้เราต้องคิดสังเกตและลองลงมือทดลอง เพื่อหาผลลัพท์ด้วยตัวเอง ยิ่งได้เล่นร่วมกับเพื่อนๆ จะยิ่งสนุก เพราะได้ช่วยกันคิดช่วยกันค้นหา ท้าทายมากๆ ค่ะ ขอขอบคุณทางเทศบาลนครเชียงใหม่ที่นำสิ่งดีๆ มาให้พวกเราค่ะ”

ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ดำเนินการสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Hands on ขึ้นแล้วรวม 5 ศูนย์ ณ โรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย, โรงเรียนเทศบาลวัดศรีปิงเมือง, โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน, โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง, และโรงเรียนเทศบาลวันศรีดอนไชย โดยเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่สามารถใช้งานในทุกโรงเรียน

ศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Hands on เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์แนวใหม่ มีแนวคิดและออกแบบโดยมูลนิธิ PHANOMENTA จากประเทศเยอรมนี ที่ไม่มีวิธีเล่น และไม่มีคำอธิบาย การค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านกิจกรรม hands-on คือลงมือปฏิบัติ สัมผัสสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานีทดลอง 32 สถานี ด้วยการปฏิบัติจริงกับประสาทสัมผัสทั้งห้า และการสนทนากับเพื่อน จะสร้างแรงบันดาลใจให้อยากรู้ และเข้าใจเองในที่สุด

โรงเรียนหรือหน่วยงานที่สนใจเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเฟโนเมนต้าภายในโรงเรียน ขอรับคำแนะนำได้ที่สถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น โทร. 0-2662-3000 ต่อ 4403 และ 4310

Comments

Share Tweet Line