สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผนึกกำลัง (MOU) เสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีแก่เยาวชนไทย

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผนึกกำลัง (MOU) เสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีแก่เยาวชนไทย

รศ.ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงนามความร่วมมือการจัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 2nd) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานเวิลด์ไดแด็คเอเซีย ในระหว่างวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม
ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ


รศ.ดร.คุณหญิง พรหมบุญ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ประธานการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจจัดการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ผลิตกำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานและตอบสนองความต้องการของประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และกำหนดให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม

ดังนั้นทั้ง 5 สถาบัน จึงร่วมมือกับสมาคมเวิลด์ไดแด็ก (WORLD DIDAC Association) พัฒนาสมรรถนะกำลังคนให้มีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคต ด้าน Dr. Steven McKee ประธานสมาคมเวิลด์ไดแด็ค เผยว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ การควบคุมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์เชื่อมในงานอุตสาหกรรม และการออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำไปใช้งาน พร้อมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพของครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้การใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักร และหุ่นยนต์ที่ใช้ระบบควบคุมสั่งการด้วยระบบอัตโนมัติ จนเกิดความทักษะความชำนาญสามารถปฏิบัติงานได้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นแรกในการเสริมความแข่งแกร่งให้กับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีในอนาคต โดยหลังจากนี้ทีมผู้เข้าแข่งขันจะได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนคำสั่งและหลักการทำงานของหุ่นยนต์ประเภทแขนกลต่อไป

การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 จะมีขึ้นในงานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย งานแสดงเทคโนโลยีสื่อการสอน อุปกรณ์เทคโนโลยี และนวัตกรรมสื่อการศึกษาจากนานาประเทศ ระหว่างวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนากรุงเทพฯ แบ่งการแข่งขันเป็น 4 ประเภท คือ การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automation Control Technology for Industry 4.0) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 62 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 43 ทีม และระดับอุดมศึกษา 19 ทีม การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Industrial Robot Control Technology for Welding 4.0) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 40 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 37 ทีม และระดับอุดมศึกษา 3 ทีม การแข่งขันออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automotive Parts Design with Industrial Robot) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 29 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 27 ทีม และระดับอุดมศึกษา 2 ทีม และการแข่งขันหุ่นยนต์ประกอบอาหาร (ผัดไทย) (Competition on Pad Thai Cooking Robot) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 23 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 19 ทีม และระดับอุดมศึกษา 4 ทีม

ในนามของคณะดำเนินงานขอเชิญชวนผู้ทีสนใจทุกท่านเข้าร่วมชมการแข่งขันพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการพร้อมชมการจัดแสดงหุ่นยนต์จากสถานประกอบการภายในงานเวิลด์ไดแด็คเอเซีย งานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการศึกษาสำหรับกลุ่มอาชีวศึกษากว่า 19 ประเทศ และพาวิลเลียนจากประเทศเยอรมนี เกาหลี จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่มาจัดแสดงภายในงาน
เพื่อเปิดโลกทรรศน์ด้านสื่อการเรียนการสอนใหม่ให้กับผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถพร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 หรือโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากสถานประกอบการชั้นนำทั่วโลกตามวันและเวลาดังกล่าว

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line