มูลนิธิพุทธจตุปาริสา เติมเต็ม บทบาทชาวพุทธ เร่งสร้างความสมบูรณ์แก่พุทธบริษัท 4

มูลนิธิพุทธจตุปาริสา เติมเต็ม บทบาทชาวพุทธ  เร่งสร้างความสมบูรณ์แก่พุทธบริษัท 4

พร้อมขับเคลื่อนเติมเต็ม พุทธบริษัท 4!! มูลนิธิพุทธจตุปาริสาเผย เร่งเสริมสร้างความเข้าใจในพระธรรมวินัย 84,000 พระธรรมขันธ์ เผยแพร่คำสอนแก่สังคมไทยเข้าใจในพระพุทธศาสนาสู่ความสมบูรณ์ตามหลักธรรมตามพระไตรปิฏก 


“มูลนิธิพุทธจตุปาริสา” มูลนิธิที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการเผยแพร่คำสอนตามหลักพระธรรมตามไตรปิฎกและมุ่งเน้นให้พุทธบริษัท เกิดความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อน และทะนุบำรุงศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

นางมิกิ พาร์เมลี โฆษกมูลนิธิพุทธจตุปาริสา ได้กล่าวถึงบทบาทของพุทธบริษัท 4 อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งแท้จริงแล้วทั้ง 4 บริษัท มีหน้าที่หลักในการศึกษาและรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฎก เพื่อทะนุบำรุงไว้ซึ่งการมั่นคงและตั้งมั่นของพุทธศาสนา ซึ่งการจะบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ จำต้องประกอบด้วยพุทธบริษัท 4 ซึ่งจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นมิได้

มิกิ กล่าวว่า “ในสมัยพุทธกาล (ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังดำรงขันธ์อยู่นั้น) ภิกษุณี เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4 ที่เกิดขึ้นและมีจำนวนมากพอ ๆ กับภิกษุแสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ก็ทรงปรารถนาให้ ผู้หญิง ออกบวชและครองผ้ากาสาวะ เพื่อบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับภิกษุ”

ตามพุทธประวัติปรากฏชื่อของภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระมหาปชาปตีโคตมีเถรี หรือพระนามเดิม พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉา (น้องสาวของมารดา) ของพระพุทธเจ้า ทรงได้อุปสมบท ตั้งใจศึกษาพระธรรม และ ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เถรี โดยพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น เอตทัคคะ คือเป็นเลิศกว่าผู้อื่นในทางรัตตัญญู หรือ ผู้รู้ราตรีนาน (ผู้ที่ได้ฟังธรรมสะสมไว้มากหลายชาตินับครั้งไม่ได้) และ ยังมีภิกษุณีสงฆ์ ที่บรรลุธรรมเกิดขึ้นอีกมากมายเป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่มีบทบาทในการเผยแพร่ พระธรรมวินัย ดังภิกษุ ตามประวัติศาสตร์ที่มีมาช้านาน

พุทธจตุปาริสาอุทยาน พุทธมณฑลสาย 5 และ วัฏฏะภิกษุณีปาฏิโมกข์ติปิฏก จังหวัดยโสธร เป็น 2 สถานที่ที่อยู่ในการสนับสนุนของมูลนิธิพุทธจตุปาริสา โดยทั้ง 2 สถานที่มีพระภิกษุ และ ภิกษุณีมาจำวัตร และปฎิบัติกิจสงฆ์ (กิจทางธรรม) ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ถูกต้องตามพระธรรมวินัยกว่า 84,000 พระธรรมขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการปาฏิโมกข์ในวันพระ การจดจำและสาธยายพระไตรปิฏกในภาษาบาลี การทำวัตร การถวายผ้าอาบน้ำฝน การตัด เย็บ ย้อม ผ้าไตรจีวร และการทอดกฐิน โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มพุทธบริษัท 4 และเผยแพร่ทะนุบำรุงซึ่งพระศาสนารวมทั้งเป็นแบบอย่างแก่เหล่าชาวพุทธเพื่อเข้าถึงพระธรรม ตามพระไตรปิฎกซึ่งถือเป็นคำสอนต้นแบบทางพระพุทธศาสนาตามหลัก “เถรวาท” 

อัยเยคัมภีระ (อัยเย เป็นคำที่ใช้เรียกนำหน้า ภิกษุณี เช่นเดียวกับ ภันเต ซึ่งใช้เรียกนำหน้า ภิกษุ) ภิกษุณีที่ได้บวชกว่า 7 พรรษา (ปี) ปัจจุบันท่านจำวัตรที่มหาวิหารพุทธจตุปาริสา (ศรีลังกา) กล่าวว่า “ภิกษุณีมีบทบัญญัติในพระธรรมวินัยว่าต้องถือศีลถึง 311 ข้อ ขณะที่ภิกษุจะถือศีล 227 ข้อ ซึ่งการที่ภิกษุณีต้องรักษาศีลมากกว่าสงฆ์นั้นเกิดจากข้อจำกัดทางกายภาพซึ่งไม่ได้ส่งผล ต่อบทบาทและหน้าที่ในการเผยแพร่ศาสนาของภิกษุณีแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น ภิกษุมีผ้า ไตรจีวร หมายถึง ผ้าจีวรที่ห่มนั้นมี 3 ผืน ได้แก่สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) อุตราสงค์ (ผ้าจีวร) และ ผ้าอันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง) ภิกษุณีจะห่มผ้าทั้งหมด 5 ชิ้นที่เพิ่มขึ้นมาคือ สังกัจฉิกา (เสื้อใน) และ อุทกสาฏิกา (ผ้าแนบอันตรวาสก)” 

“ปัจจุบัน มูลนิธิให้การอุปฐาก ดูแลภิกษุและภิกษุณีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ รูป หมุนเวียนไป พำนักตามมหาวิหารทั้ง 7 สถานที่ซึ่งอยู่ในการอุปถัมภ์ของมูลนิธิในประเทศไทย อาทิ วัดภิกขุณีปาฏิโมกข์ธัมมติปิฏก จังหวัดยโสธร ซึ่งมีเจ้าอาวาสคือ อัยเยปฐมโลกติปิฏก ซึ่งท่านได้บรรพชาอุปสมบทมาทั้งแล้ว 12 พรรษา อัยเยท่านได้กล่าวว่า “อุบาสกและอุบาสิกาจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ (เข้าบรรพชา) นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอุบาสิกานั้นมีข้อจำกัดมากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นทั้งการยอมรับจากครอบครัว หรือความกดดันจากสังคมที่มองว่าภิกษุณีเป็นสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้น แท้จริงแล้วอุบาสิกาที่ตัดสินใจเข้าบรรพชานั้นมีความตั้งใจหลักเพื่อต้องการศึกษาและเข้าใจพระธรรมวินัยเพื่อหาคำตอบของชีวิตและค้นหาเส้นทางการหลุดพ้นจากทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสสอนไว้ และบางท่านเมื่อได้เข้าใจความสำคัญและหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 แล้ว ก็ได้บรรพชาเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของพุทธบริษัท 4 ตามคำกล่าวของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง” อัยเยคัมภีระ กล่าว

อัยเยคัมภีระ กล่าว เพิ่มเติมว่า “เป้าหมายสูงสุดของมูลนิธิพุทธจตุปาริสาคือการทำให้เกิดชุมชนชาวพุทธบริษัท 4 ที่มีความรู้ตามพระธรรมวินัยเท่าเทียมกัน และพร้อมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาสทบเนื่องต่อไปอย่างยั่งยืน โดยภารกิจหลักในปัจจุบันคือ การให้ความรู้และความเข้าใจในหน้าที่ให้แก่พุทธบริษัท ในแต่ละส่วนทั้งอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี อันเป็นจะกลไกสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงดำรัสไว้”

“การเรียนรู้และปฏิบัติธรรมในประเทศไทยได้ถูกผสมผสานและปรุงแต่งไปตามยุคสมัย ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยจนเป็นเนื้อเดียวกัน หลายหลักการจึงอาจบิดเบือนไปจากคำสอนในพระไตรปิฎก ซึ่งการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาได้ดีที่สุดในวันนี้จึงเป็นการกลับไปสู่

จุดเริ่มต้น คือการรณรงค์ศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกและนำสิ่งที่เราศึกษาแล้วนั้นมาร่วมกันปฏิบัติ ดังที่โลกใบนี้ประกอบด้วยผู้หญิงและผู้ชาย ต่างมีหน้าที่ต่างกันแต่ ทั้งสองเป็นการ ผสมผสานและคงสมดุลของโลกใบนี้ เช่นเดียวกับ พุทธศาสนาที่ต้องมี 4 บริษัทมาทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อเกิดการสมดุลและสมบูรณ์ของพุทธศาสนา” มิกิกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ มูลนิธิพุทธจตุปาริษาจัดทำวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์การสถาปนาพุทธบริษัท 4 ในชื่อเรื่อง THE STORY OF BUDDHACATUPARISA พุทธศาสนิกชนและผู้ที่สนใจ สามารถรับชมได้ที่  https://youtu.be/BYDt6RaQ6Us 

Comments

Share Tweet Line