บจธ. แจงรายละเอียดการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน แก้ปัญหาสูญเสียสิทธิในที่ดิน

บจธ. แจงรายละเอียดการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน แก้ปัญหาสูญเสียสิทธิในที่ดิน

เกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของตนเอง ทั้งกรณีหลุดจำนองขายฝาก และถูกบังคับคดี มีเฮ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ “บจธ.” เผยปรับเปลี่ยนรายละเอียด เงื่อนไขในการขอรับเงินความช่วยเหลือในโครงการฯ ให้ใหม่ ยืนยันถึงเป็นหนี้ ก็ยังมีที่ดินทำกินอยู่โดยเปลื่ยนมาเป็นวิธีให้สินเชื่อโดยวิธีการให้เช่าซื้อ ที่ดินไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท และให้เป็นสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท


นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า  บจธ. กำลังดำเนินการ “โครงการแก้ปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน” อยู่ในขณะนี้  เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิ์ในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินไปแล้ว จากการจำนองการขายฝาก และการถูกบังคับคดี   โดย บจธ. จะจัดซื้อที่ดินที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์และเหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรและอยู่อาศัย แล้วจัดให้เกษตรกรและผู้ยากไร้เข้าทำกินหรืออยู่อาศัยในที่ดินของตนเองต่อไป โดยการให้เช่าซื้อ

อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการให้สินเชื่อ แก่เกษตรกรและผู้ยากจน ที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว รวมถึงเกษตรกรและผู้ยากจน และผู้ที่เคยได้รับสินเชื่อจาก บจธ. แล้ว

“โครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559-2560 ที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาเกษตรกรเอาที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงิน หรือขายฝากกับนายทุน สุดท้ายที่ดินดังกล่าวหลุดจำนองหรือขายฝาก ถูกเจ้าหนี้ยึดไป ที่ผ่านมา มีปัญหากรณีที่ บจธ. ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินกลับคืนมาแล้ว เกษตรกรดังกล่าว มักไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของคนอื่น  พอลูกหนี้ที่ตัวเองไปค้ำประกันชำระไม่ได้ เจ้าหนี้ก็จะมาบังคับคดีกับที่ดินที่จำนองไว้กับ บจธ. เลยต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ โดย บจธ. จะไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา แล้วนำมาให้เจ้าของที่ดินเช่าซื้อระยะยาว 30 ปี ด้วยวิธีการนี้มั่นใจได้ว่า ต่อให้คุณเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว คุณก็ยังมีที่ทำกิน”  ผู้อำนวยการกล่าว

ทั้งนี้ได้กำหนดลักษณะที่ดินที่ บจธ. จะให้ความช่วยเหลือ คือ  ต้องเป็นที่ดินที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ผู้ขอความช่วยเหลือใช้ประกอบอาชีพ หรือเป็นที่อยู่อาศัย โดยต้องไม่เป็นที่ดินที่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์  ต้องเป็นที่ดินเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย ที่อยู่ระหว่างระยะเวลาไถ่ถอนจำนอง หรือไถ่ถอนขายฝาก หรือเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างจะถูกยึดตามคำสั่งศาลเพื่อบังคับชำระหนี้ หรือถูกยึดเพื่อบังคับคดี และอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด  ถ้าเป็นที่ดินที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้ว เกิน 5 ปี และผู้ขอความช่วยเหลือต้องทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับวงเงินที่ บจธ. ให้ความช่วยเหลือ กรณีให้เช่าซื้อที่ดิน ไม่เกินรายละ 1  ล้านบาท  กรณีสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท  ทั้งนี้กรณีเช่าซื้อ ส่วนที่เป็นค่าเช่าซื้อ เกษตรกรผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อเท่ากับมูลค่าที่ดินที่ได้จัดซื้อและค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ กับดอกเบี้ย ตามที่ บจธ. กำหนด โดยมีระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อและดอกเบี้ยไม่เกิน 30 ปี  คิดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ ร้อยละ 3 ต่อปี  ถ้าเป็นกรณีการให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ระยะเวลาชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี

ส่วนจำนวนที่ดินที่ บจธ. ให้เช่าซื้อเพื่อทำเกษตรกรรม ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครอบครัว และให้เช่าซื้อเพื่ออยู่อาศัย ไม่เกิน 100 ตารางวาต่อครอบครัว  สำหรับการแก้ไขปัญหาในโครงการนี้ ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไปจำนวน 302 ราย ที่มีปัญหาที่ดินหลุดมือไปแล้ว จากการจำนองและขายฝาก ทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินกลับคืนมาเป็นของตนเอง คิดเป็นพื้นที่โดยรวมประมาณ 2,394 ไร่

ผู้อำนวยการ กล่าวอีกว่า ลักษณะหนี้ตามโครงการนี้ จะต้องเป็นหนี้อันเนื่องมาจากการนำที่ดินไปขายฝาก หรือจำนองไว้กับเจ้าหนี้  สำหรับกรณีหนี้ที่เกิดจากการจำนองกับนิติบุคคลธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วเท่านั้น ส่วนหนี้ที่เกิดจากการจำนองกับบุคคลธรรมดา ไม่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ได้  และจะต้องเป็นหนี้สินตามคำพิพากษาได้ทั้งในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labal.or.th  หรือส่งอีเมลล์ที่ [email protected] หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610  มือถือ 09 2659 1689

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line