ผู้ตรวจการแผ่นดินลุยแหล่งท่องเที่ยวหลัก- รอง สำรวจ 5 จังหวัด นำร่องผลักดันกฎหมาย

ผู้ตรวจการแผ่นดินลุยแหล่งท่องเที่ยวหลัก- รอง สำรวจ 5 จังหวัด นำร่องผลักดันกฎหมาย

เมื่อเร็วๆนี้ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ขณะนี้การประกอบธุรกิจให้บริการเช่าที่พักระยะสั้นเพื่อการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงแรม ซึ่งมีลักษณะการนำบ้านพักที่มีห้องว่าง ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียมที่ซื้อไว้แล้วไม่ได้อยู่รวมถึงอพาร์ทเม้นท์ส่วนตัวมาเสนอให้เช่าในระยะสั้นไม่กี่วันเพื่อสร้างรายได้โดยผู้เช่าสามารถจองผ่านแอพพลิเคชันของผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของที่พักอาศัยและผู้เช่า เช่น Airbnb หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในขณะนี้  สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับหรือคลอบคลุมถึงการทำธุรกิจประเภทดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547  พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมาย ยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาด้านอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยาเสพติด รวมถึงการส่งเสียงดังก่อความรำคาญต่อผู้ที่อยู่อาศัยอย่างถาวรที่ต้องการความเป็นส่วนตัว หรือเหตุการณ์ข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยกับผู้เข้าพักรายวันเรื่อยมา


นายรักษเกชา กล่าวว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนและส่งเสริมสนับสนุนให้คำแนะนำเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นความจำเป็นในการหยิบยกเรื่องปัญหาธุรกิจการให้เช่าที่พักระยะสั้นขึ้นมาพิจารณาเพื่อมุ่งช่วยแก้ไขปัญหาให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกำหนดแนวทางมาตรการรองรับการประกอบกิจการที่ถูกต้องของผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวหลากหลายระดับ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการประหยัดค่าที่พัก เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลักให้มีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หันมาเที่ยวในประเทศไทย จึงจัดตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล สภาพปัญหาสถานการณ์ในปัจจุบัน จำนวนห้องพักที่เปิดประกอบกิจการ จุดอ่อนข้อบกพร่องของหน่วยงานรัฐ ความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อหาจุดให้เกิดการลงตัวมากที่สุด ทั้งในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองด้านการท่องเที่ยว จำนวน  5 จังหวัด บุรีรัมย์ ภูเก็ต ระยอง เชียงราย และน่าน

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายในวันนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากนายภาสกร บุญญลักษม์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รวมทั้งข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งจากผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงรายและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในที่ประชุมแสดงความคิดเห็นและเห็นด้วยต่อธุรกิจการเช่าที่พักในระยะสั้นแต่ให้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆให้ชัดเจน รวมถึงขอให้มีการจดทะเบียนการเข้าพักให้เรียบร้อยหากมีการกระทำผิดให้พิจารณาเป็นรายๆไป รวมถึงให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลรับผิดชอบด้านต่าง ๆ เช้มงวดมากขึ้นและเพื่อให้การแสวงหาข้อมูลครบทุกบริบทจึงกำหนดลงพื้นที่ครั้งต่อไปในวันที่ 23 กรกฎาคม จังหวัดน่าน

นอกจากการลงพื้นที่แสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงในแต่ละจังหวัดที่ผ่านมายังได้หารือถึงประโยชน์ ข้อจำกัด และความเป็นไปได้ในการให้บริการของผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลาง เช่น Airbnb โดยกำหนดแนวทางและข้อตกลงร่วมกัน เช่น การให้บริการแก่ผู้ต้องการให้เช่าห้องพักที่ถูกกฎหมายเท่านั้น  กำหนดจำนวนผู้เข้าพัก จำนวนวันที่อนุญาตต่อปี ช่วงเวลาที่สามารถให้เข้าพักในหนึ่งสัปดาห์ เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมรายละเอียดนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในประเทศไทยส่งให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องดังกล่าว การหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้ใช้บริการหลังจากลงทะเบียนผ่านระบบแอพพลิเคชันเรียบร้อยแล้วทั้งจากนักท่องเที่ยวและผู้ให้เช่า และนำส่งรัฐบาล ซึ่งเรื่องเป็นประโยชน์อย่างมาก รวมถึงร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ถูกกฎหมายเท่านั้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ธุรกิจโรงแรมหน่วยงานรัฐก็ต้องมีการดูแลเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบต่อผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องมีการกำหนดคำนิยามประเภทของการให้บริการเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

“ภาระหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มุ่งจับผิดใครแต่มุ่งช่วยหน่วยงานแก้ไขปัญหา หาทางออกให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ การจัดระเบียบสังคมเอื้อประโยชน์สูงสุดและลดภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยไม่จำเป็น เมื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่ได้ทุกจังหวัด โดยผ่านการสังเคราะห์ของคณะทำงานแล้ว จะเร่งดำเนินการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่กำกับดูแลส่วนราชการในสังกัดประกอบด้วยกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการท่องเที่ยว สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นที่เป็นปัญหาสาธารณะประมวลเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล อันนำไปสู่ข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันต่อไป ” นายรักษเกชา กล่าว

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line