กรมควบคุมโรค สาธารณสุข สานความร่วมมือกับวิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวะมหิดล

กรมควบคุมโรค สาธารณสุข สานความร่วมมือกับวิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวะมหิดล

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ให้การต้อนรับและประชุมหารือการประสานความร่วมมือในการเพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาระบบงานนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้นำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ มาประยุกต์เชิงบูรณาการ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและช่วยตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ณ ห้องประชุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรคและภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยเสริมพลังในการพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์ให้เข้มแข็ง ทั้งด้านการศึกษาวิจัย พัฒนาและกำหนดมาตรฐานทางวิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านป้องกันควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ทั้งตอบสนองการส่งเสริมประเทศไทยก้าวเป็นฮับการแพทย์ของภูมิภาคอาเซียน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2550 มาถึงปัจจุบัน ผลิตวิศวกรชีวการแพทย์ที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ต้องการสูงทั้งในและต่างประเทศ  โดยมีหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท นานาชาติ และปริญญาเอก  นานาชาติ ภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย  มีคณะแพทยศาสตร์  ถึง 3 คณะ และมีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ถึง 4 แห่ง  

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายงานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวหน้าด้วยการใช้พหุศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงในการศึกษา ออกแบบ พัฒนาผลิตระบบและอุปกรณ์ทางการแพทย์  สร้างประโยชน์ต่อวงการแพทย์ สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน  เช่น  1. การเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์ การวินิจฉัยโรค และการปรับปรุงการสร้างเครื่องมือทาง การแพทย์ 2. วิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยา บนพื้นฐานของการใช้โพลิเมอร์นำส่งยารักษาโรคมะเร็งได้อย่างมี ประสิทธิภาพ 3. การประมวลผลชั้นสูงในการแพทย์ เช่น การพัฒนาระบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของสรีรวิทยาของมนุษย์การแสดงผลภาพและการประมวลผลภาพทางการแพทย์ การจัดระบบประมวลผลแบบคลาวด์ทางการแพทย์ (Medical Cloud Computing) และโทรเวช เป็นต้น และ 4. วิศวกรรมฟื้นฟูและอวัยวะประดิษฐ์

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line