อว. ทุ่ม 17,000 ล้าน เปลี่ยนประเทศไทยใน 4 มิติ ดัน 3 โครงการควิกวิน พันนวัตกรรมแก้จนฯ

อว. ทุ่ม 17,000 ล้าน เปลี่ยนประเทศไทยใน 4 มิติ ดัน 3 โครงการควิกวิน พันนวัตกรรมแก้จนฯ

อว. ทุ่ม 17,000 ล้าน เปลี่ยนประเทศไทยใน 4 มิติ ดัน 3 โครงการควิกวิน พันนวัตกรรมแก้จน อาสาประชารัฐ และนวัตกรรมเพื่อสังคม อนุมัติล็อตแรก 1,000 ล้าน เสริมแกร่ง 100 มหาวิทยาลัย และกว่า 40 หน่วยงานวิจัยทั่วประเทศปูพรมทำงานร่วมกับชุมชน หวังเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากร 150,000 บาทต่อปี เพิ่มจากเดิม 2.5 เท่า


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “ประชุมชี้แจงระบบ แผน และแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สามารถออกแบบแผนด้าน ววน. ของประเทศ ได้ตามเป้าหมายของกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีบุคลากรในระบบ ววน. เข้าร่วมกว่า 1,200 คน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า หนึ่งในจุดเด่นของการปฏิรูปสู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ การปฏิรูประบบงบประมาณให้สอดคล้องกับการวิจัยและพัฒนา ที่มีลักษณะงาน รูปแบบการลงทุนและชุดของความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างจากงานทั่วไปอย่างสิ้นเชิง โดยปฏิรูประบบงบประมาณผ่านกองทุนจัดสรรงบประมาณในลักษณะ Block Grant ตอบโจทย์ที่สำคัญและสามารถทำการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง (Multi-year) ช่วยปลดล๊อคระบบงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม ให้หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม สามารถรับเงินงบประมาณจากกองทุนฯ ได้แบบ Multi-year และสามารถให้ทุนสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนได้ โดยกระทรวงได้มีการจัดสรรงบประมาณ 17,000 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนประเทศใน 4 มิติ คือ 1.ปฏิรูปการอุดมศึกษาทั้งระบบ  2. สร้างคนและพัฒนาคน 3. สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ 4. สร้างและพัฒนานวัตกรรม 

“ในระยะแรกกระทรวงจะทุ่ม 1,000 ล้านบาท ใน 3 โครงการที่ทำทันที ประกอบด้วย 1. โครงการ 1,000 นวัตกรรมแก้จน ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนจากที่เดิมมีรายได้ประมาณ 57,000 บาท/คน/ปี เพิ่มเป็น 150,000 บาท/คน/ปี จำนวน 90,000 ราย โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์ประสานงานที่ สกสว. ตั้งขึ้นทั่วประเทศ กว่า 40 แห่ง เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน 2. โครงการอาสาประชารัฐ โดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ที่จะขยายผลโครงการบัณฑิตจิตอาสาของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ออกไปทำงานในชุมชน โดยจะขยายผลปูพรมไปตามหน่วยงานและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และ 3. โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line