ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ชัดยุติปัญหาที่ทำกินทับซ้อนอุทยานทับลาน -ชงนายกคืนพื้นที่กลับสู่ส.ป.ก.

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ชัดยุติปัญหาที่ทำกินทับซ้อนอุทยานทับลาน -ชงนายกคืนพื้นที่กลับสู่ส.ป.ก.

ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยยุติปัญหาเรื้อรังพื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน คืนความชอบธรรมให้ประชาชน ลั่นหน่วยงานรัฐต้องคำนึงหลักนิติธรรมควบคู่การบังคับใช้กฎหมาย พร้อมส่งคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี พ่วง 3 เจ้ากระทรวง 2 กรม ระบุต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน


พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา แจ้งผลวินิจฉัยการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการถือครองที่ดินของราษฎรในอำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 2 จังหวัด ซึ่งบางส่วนถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ปัญหาเกิดจากการ ส่งมอบพื้นที่และการประกาศแนวเขตของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละช่วงเวลาเกิดความคลาดเคลื่อนของแนวเขตจนทำให้เขตพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานทับซ้อนกัน ซึ่งต้องย้อนไปเมื่อปี 2520 – 2523 ที่กรมป่าไม้ร่วมกับ ส.ป.ก. ได้สำรวจรังวัดและส่งมอบป่าวังน้ำเขียวแปลงที่ 1 และป่าวังน้ำเขียวแปลงที่ 2 โดยการสำรวจรังวัดได้มีการโยงยึดค่าพิกัดหมุดหลักฐาน แผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ระบบพิกัดฉากเพื่อทราบตำแหน่ง รูปแปลงและเนื้อที่ที่แน่นอน ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2524 กำหนดที่ดินป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบล ทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

โดยไม่ได้ทำการสำรวจพื้นที่จริงก่อนการประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จึงทำให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องที่ดินและรัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมตั้งแต่ปี 2457 และราษฎรที่เคยอาศัยกระจัดกระจายอยู่บนป่าเขาในเขตอิทธิพลผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ซึ่งเมื่อปี 2518 รัฐได้อพยพราษฎรเหล่านี้ลงมาอยู่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไม่มีสภาพความเป็นธรรมชาติและจัดสรรพื้นที่ทำกินพร้อมกับจัดตั้งหมู่บ้านชื่อว่า “บ้านไทยสามัคคี” ให้อยู่อาศัยกันมามากกว่า 40 ปี จนกระทั่งเมื่อปี 2533 – 2543 มีการสำรวจรังวัดปรับปรุงแนวเขตและปักหลักเขตจนเป็นที่รับรู้ทั่วกันของราษฎร แต่การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานไม่แล้วเสร็จ จึงยังคงใช้พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2524 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีราษฎรถูกจับกุม ดำเนินคดี เป็นการสร้างปัญหาความเดือดร้อน ความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ ถูกภาครัฐทอดทิ้งไม่ให้ความช่วยเหลือใด ๆ เฉกเช่นเดียวกับที่ให้แก่เกษตรกรทั่วไป ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับราษฎรในพื้นที่เรื่อยมา

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้นใน 3 ประเด็น คือ 1) ปัญหาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน 2) ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน และ 3) ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง (โครงการ พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) กับอุทยานแห่งชาติ ทับลาน ดังนั้น เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐสามารถดำเนินการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นชอบร่วมกัน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ คำสั่ง และขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยให้ยึดถือแนวเขตตามที่ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดร่วมกันมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของพื้นที่ จากนั้นให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

1. บริเวณพื้นที่ที่ยังคงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

2. บริเวณพื้นที่ที่ถูกกันออกหรือเพิกถอนจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมป่าไม้รายงานเหตุผลและความจำเป็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อออกกฎกระทรวงยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้มีมติยกเลิกพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากสภาพความเป็นจริงคือเป็นป่าเสื่อมโทรมที่รัฐจัดให้ประชาชนเข้าไปทำกิน (พมพ. / คจก.) ดังนั้น แสดงว่าไม่มีสภาพของป่าอนุรักษ์อีกแล้ว จากนั้นให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ครบถ้วนต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ และให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

พลเอก วิทวัส กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจในคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แม่ทัพภาคที่ 2 นายอำเภอวังน้ำเขียว นายอำเภอครบุรี นายอำเภอปักธงชัย นายอำเภอเสิงสาง ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ตลอดจนราษฎรในพื้นที่ให้ทราบถึงการอำนวยความเป็นธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแก้ปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับที่ดินทำกินของราษฎร “ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของแนวเขตอุทยานฯ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้เดือดร้อน ทั้งถูกจับกุม ส่งฟ้องศาล ชีวิตที่ตกเป็นจำเลย ลำบากมากว่า 40 ปี หน่วยงานรัฐจึงจำเป็นต้องร่วมมือเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาสิทธิประชาชน รวมถึงรักษาทรัพยากรป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่เบียดเบียน รังแกประชาชน ใช้หลักนิติธรรมให้ประชาชนและฝ่ายปกครองอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันและมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนดูแลปกป้องพื้นที่ป่าให้สมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป” พลเอก วิทวัส กล่าวย้ำ

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line