พนัส แอสเซมบลีย์-ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. ประกาศผล Panus Thailand LogTech Award 2019

พนัส แอสเซมบลีย์-ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. ประกาศผล Panus Thailand LogTech Award 2019

พนัส แอสเซมบลีย์ ร่วมกับ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผลการประกวดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 โครงการที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) รายแรกของประเทศไทย เพื่อคว้าเงินรางวัล 100,000 บาท และโล่รางวัล จากประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีมบริษัท ชิปป๊อป จำกัด กับผลงานออนไลน์โลจิสติกส์บุ๊กกิ้ง พร้อมโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์ที่ประเทศเยอรมนีร่วมกับทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 ขณะที่ประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท และโล่รางวัล ได้แก่ ทีม I’Rice Logis Tech ม.ศิลปากร กับผลงานแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้าวและส่งมอบข้าว ตอกย้ำเจตนารมณ์ที่ต้องการสนับสนุนแนวคิดธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับและต่อยอดให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยแข็งแกร่งและก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสากลได้




นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โครงการ Panus Thailand LogTech Award ที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้ริเริ่มขึ้นและดำเนินโครงการต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่3 ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในประเภทนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไป และประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ใช้และแชร์ความคิดความสามารถ สร้างสรรค์เชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ (Logistics) ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตอบสนองนโยบายรัฐในยุค Thailand 4.0 พร้อมผลักดันแนวคิดพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ไทยสู่สากล และในปีนี้มีแนวคิดการประกวด “The Adventures in Logistics” เพื่อจะมุ่งเน้นย้ำให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ว่าจะแนวคิดหรือธุรกิจแบบใดก็ตาม สามารถมาร่วมผจญภัยในโลก PANUS Logistics ได้ เพราะโลจิสติกส์ ไม่ใช่เพียงเรื่องการขนส่งเท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแนวคิดธุรกิจ ที่จะสามารถตอบโจทย์และยกระดับโลจิสติกส์ได้ ซึ่งทางโครงการฯ พร้อมที่จะรับพิจารณาให้มาร่วมแข่งขันในโครงการ

“จากการคัดเลือกผลงานในปีนี้ พบว่า มีผู้ส่งผลงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป จำนวน 30 ผลงาน และประเภทนิสิตและนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 29 ผลงาน ซึ่งทำให้เห็นว่า ผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นอย่างในประเภทนิสิตและนักศึกษา มีแนวคิดที่หลากหลาย และเฉียบแหลมมากขึ้น  ขณะที่ประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไปเอง มีเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าสามารถพัฒนาโลจิสติกส์ได้อย่างชัดเจนเพิ่มมากขึ้นทุกปี สร้างความยินดีเป็นอย่างยิ่งแก่ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. ที่ได้เริ่มโครงการฯ มาตั้งแต่เมื่อปี 2560 นับตั้งแต่วันที่ทางบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้เข้ามาหารือเรื่องการจัดโครงการ Panus Thailand LogTech Award ซึ่งเป็นความตั้งใจจริงของคุณพนัส วัฒนชัย ที่ต้องการจะสนับสนุนแนวคิดธุรกิจของนิสิตนักศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สตาร์ทอัพมี เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถยกระดับและต่อยอดให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยแข็งแกร่งและก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสากลได้ นอกจากรางวัลในการประกวดแล้ว ทางบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ยังได้มอบโอกาสแก่ผู้ชนะแบบนิติบุคคลไปศึกษาดูงานโลจิสติกส์ระดับสากลที่ประเทศในแถบยุโรปด้วย เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดพัฒนาธุรกิจของตน อีกทั้งยังจัดตั้งกองทุน Panus Logistics Innovation Fund เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยได้มีโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”



นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่งมากว่า 50 ปี กล่าวว่า โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งในทุกปีมีผู้ให้ความสนใจในโครงการ และร่วมสมัครกันเป็นจำนวนมากขึ้น ๆ ซึ่งปีนี้มีผู้ร่วมสมัครทั้งสองประเภทกว่า 70 ราย โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์ในรอบคัดเลือกใบสมัครทั้งสองประเภทเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20 ทีม และแต่ละทีมได้ผ่านการ Coaching ในเรื่องของโลจิสติกส์ และวิธีการนำเสนอบนเวทีในวันกิจกรรม LogTech Boot Camp มาแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งความคาดหวังและความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา LogTech ในประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าแข่งขันที่ให้ความสนใจในการประกวด LogTech มากขึ้น เท่ากับว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีผู้เข้าใจและให้ความสำคัญมากขึ้นทุก ๆ ปี และจากผลงานของผู้เข้าประกวดใน 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม และก้าวกระโดดในการผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด จะไม่หยุดยั้งที่จะสร้างและสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยได้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถตอบรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เติบโตขึ้นได้อย่างครบวงจรต่อไป”

สำหรับทีมที่ชนะเลิศในประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท ได้แก่ ทีม บริษัท ชิปป๊อป จำกัด กับผลงาน Online logistic booking ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ทีม โอแซดที โรโบติกส์ จํากัด กับผลงานซอฟต์แวร์นําทางตัวเองโดยอัตโนมัติสําหรับโดรนในที่ที่ไม่มี GPS เพื่อการเช็คสต๊อกแบบอัตโนมัติ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีม บริษัท ไอเวิร์ค อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด กับผลงาน Airtalk - Logistic Collaboration แพลตฟอร์มให้บริการในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์รวบรวมระบบขนส่งและการสื่อสาร พร้อมโอกาสของทั้ง 3 ทีมกับการไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนีด้วย

ส่วนทีมที่ชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ได้แก่ ทีม I’Rice Logis Tech มหาวิทยาลัยศิลปากร กับผลงานแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้าวและส่งมอบข้าว ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ทีม LM_GetA สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กับผลงาน Auto Trolley รถเข็นอัตโนมัติพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ขนกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารในสนามบิน และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีม EnergyEN มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับผลงาน BLUE BOX เป็นแอปจัดส่งสินค้าอาหารสดผ่านตู้รับฝากสินค้าให้โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มที่พักอาศัยอยู่ตามคอนโด Apartment ในเขตเมือง

ทีมที่ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ CEO บริษัท ชิปป๊อป จำกัด เล่าว่า “Online logistic booking เป็นระบบจองขนส่งออนไลน์ ที่รวบรวมผู้ให้บริการขนส่งหลาย ๆ เจ้าในประเทศไทยมาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว อาทิ ไปรษณีย์ไทย, Flash, SCG Express, CJ Logistics, ninja van, lalamove ฯลฯ โดยที่ลูกค้าสามารถเข้ามาจองขนส่งได้ฟรีผ่านทาง Shippop ซึ่งสามารถเปรียบเทียบราคาขนส่งของทุกเจ้า ทำให้ประหยัดเวลาและต้นทุน และสามารถจองขนส่งหรือเรียกขนส่งมาถึงหน้าบ้านได้เลย โดยสามารถออกใบปะหน้าเเละหมายเลขติดตามพัสดุให้ลูกค้าได้ทันทีด้วย โดยการมาเข้าร่วมประกวดในโครงการ Panus Log Tech Award ครั้งนี้ นอกจากจะได้รับรางวัลแล้วยังได้หุ้นส่วนธุรกิจหรือ Partner ด้วย”

ด้านนักศึกษาที่ชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา นายศุภวิชญ์ อินทนาคม ร่วมด้วย นายวชิรโชติ ชูตะกูล และ น.ส.ช่อผกา สอนทา จากทีม I’Rice Logis Tech มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า “I'rice คือ แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้าวและส่งมอบข้าวสารคุณภาพสู่ร้านค้าทั่วไทย โดยมีถังข้าว IoT (rice storage tank IoT) ที่จะดูแลข้าวจากโรงสีจนถึงมือผู้บริโภค ด้วยระบบ IoT auto-demand ทำให้รู้ได้ว่าข้าวสารของลูกค้าจะหมดเมื่อไร และจะต้องเติมอีกเท่าไรถึงจะเต็มถัง ให้ลูกค้าไม่ต้องไปซื้อข้าวสารเอง หรือโทรสั่งให้ร้านข้าวสารจัดส่งมายังร้าน อีกทั้งลูกค้ายังได้ความคุ้มค่าในด้านราคา ที่ลูกค้าจะไม่สามารถหาได้จากร้านขายข้าวสารทั่วไป เพราะข้าวมาจากโรงสีโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และในอนาคตจะรับข้าวสารจากชาวนาโดยตรงผ่านระบบโรงสีข้าวชุมชน เนื่องจากระบบ auto-demand จากถังข้าว IoT ทำให้รู้ว่าต้องเติมข้าวสารให้ร้านอาหารแต่ละร้านเท่าไหร่ โดยที่เราไม่ต้องโทรถามร้านอาหาร จึงรวบรวมข้อมูลนี้ส่งไปยังโรงสีขนาดกลางที่เป็นคู่ค้าได้โดยตรง จุดนี้ทำให้สามารถซื้อข้าวสารจากโรงสีได้เนื่องจากมีการซื้อในปริมาณมากพอ และขนส่งไปยังร้านอาหารโดยตรง และมีการคำนวณทางด้านโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งด้วย”

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line