คณะบริหารธุรกิจ ราชมงคลพระนคร จับมือ ธ.ออมสิน ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างรายได้สู่ชุมชน

คณะบริหารธุรกิจ ราชมงคลพระนคร จับมือ ธ.ออมสิน ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างรายได้สู่ชุมชน

การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการสร้างอาชีพให้กับชุมชน เป็นภารกิจอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ในการบูรณาการวิชาการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของชุมชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เช่นเดียวกันที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดำเนินโครงการ “การสร้างอาชีพให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ณ กลุ่มชุมชนแม่บ้านลำพะองพัฒนา แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารออมสิน ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อช่วยกลุ่มชาวบ้านสร้างความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า สร้างอาชีพเพิ่มความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของชุมชน      


           

ทั้งนี้กลุ่มชุมชนแม่บ้านลำพะองพัฒนา อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE พื้นที่เขตหนองจอก มีผลิตภัณฑ์วางจำหน่าย อาทิ ไข่เค็มสมุนไพร ดอกไม้จันทน์ และน้ำยาล้างจาน แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีจำหน่ายเฉพาะตามเทศกาล รวมถึงไม่มีความหลากหลาย และเป็นที่ดึงดูดใจต่อลูกค้ามากนัก จึงทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงชุมชน ด้วยเหตุนี้  อาจารย์ปาริชาติ ช้วนรักธรรม และ อาจารย์ศิริกานต์ ติรสุวรรณวาสี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงจัดทำโครงการพัฒนา “การสร้างอาชีพให้กับชุมชน” เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนขึ้น

อาจารย์ปาริชาติ ช้วนรักธรรม กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มชุมชนพบว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ช่วยสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงการทำบัญชีรับจ่ายอย่างเป็นรูปธรรม โดยทีมงานเล็งเห็นว่ากลุ่มแม่บ้านชุมชนมีจักรเย็บผ้าแต่ไม่ได้ใช้งาน จึงมีแนวคิดการสร้างอาชีพการตัดเย็บกระเป๋าผ้าสีสันสดใส เพื่อวางจำหน่ายเพิ่มเติมภายในศูนย์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Save Happy Save Earth Save Our” ขึ้น ด้วยกระแสเรื่องของการรักษ์โลก ซึ่งมีการรณรงค์เรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์เรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้แก่ อาจารย์มัลลิกา จงจิตต์ และอาจารย์กฤตพร ชูเส้ง เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงฝึกอบรม “การตัดเย็บกระเป๋าผ้าภายใต้แบรนด์ Save Happy”  นอกจากนี้ยังสอนการทำการตลาดทางออนไลน์ผ่านโซเซียลมีเดีย เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าได้อีกทางหนึ่ง รวมไปถึงการวางแผนการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมของกลุ่มให้เกิดความน่าสนใจ เช่น การสร้างแพกเกจสินค้าให้ดึงดูดใจ เป็นต้น

ด้าน นางวัชลีย์ เพ็ชรบุรี ผู้นำกลุ่มแม่บ้านลำพะองพัฒนา เขตหนองจอก กล่าวว่า โครงการสร้างอาชีพ “กระเป๋าผ้า Save Happy”  ได้รับการบูรณการความรู้จากคณะบริหารธุรกิจ มทร.พระนคร  ในการอบรมสร้างอาชีพการตัดเย็บกระเป๋าผ้า โดยการบูรณาการความรู้ พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องจากเดิมทางกลุ่มมีจักรเย็บผ้าที่ไม่ได้ใช้งานอยู่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจึงนำความรู้ด้านการตัดเย็บมาถ่ายทอด เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งแก่กลุ่ม  นับเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน โดยการประยุกต์ ทฤษฎีในชั้นเรียนกับการปฏิบัติจริงในการสร้างคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line