ม.มหิดล คว้ารางวัลระดับโลกขับร้องเพลงประสานเสียง

ม.มหิดล คว้ารางวัลระดับโลกขับร้องเพลงประสานเสียง

MU Choir คว้า 5 รางวัล จากแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย ในงาน The 8th BICF - Bali International Choir Festival ระหว่างวันที่ 23 - 27 กรกฎาคม 2562 และ 2 รางวัลจากงาน Singapore 12th International Choral Festival Orientale Concentus ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2562


คณะนักร้องประสานเสียงมหาวิทยาลัยมหิดล (MU Choir) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2554 ในสมัยที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วัตถุประสงค์เพื่อการเฉลิมฉลองในปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554

MU Choir ได้ออกแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในโครงการประกวดการขับร้องเพลงประสานเสียงอุดมศึกษา เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ซึ่งคณะนักร้องได้แสดงความสามารถในการร้องอย่างโดดเด่น และได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันระดับภาค และรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดระดับประเทศ จากการได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทำให้คณะนักร้องเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และได้มีโอกาสแสดงในงานสำคัญต่างๆของมหาวิทยาลัย และงานในระดับชาติ และนานาชาติ อาทิ ประเทศรัสเซีย โปแลนด์ และสโลวาเกีย ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจเข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ทั้งโปแลนด์ บัลแกเรีย ยูเครน รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ฯลฯ โดยวงขับร้องประสานเสียง MU Choir เป็นตัวแทนจากประเทศไทย และเอเชียเพียงวงเดียว

ในปี 2562 MU Choir ได้เข้าร่วมการแข่งขัน 2 รายการ โดยรายการแรกแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 23 - 27 กรกฎาคม 2562 ในงาน The 8th BICF - Bali International Choir Festival ได้รับ 5 รางวัล ได้แก่ 1. เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir 2. Category Winner (คะแนนสูงสุด) จากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir และผ่านเข้าสู่ Championship 3.เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Musica Sacra 4.เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir ในรอบ Championship และ 5.Category Champion จากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir ในรอบ Championship

และรายการล่าสุด แข่งขัน ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2562 ในงาน Singapore 12th International Choral Festival Orientale Concentus ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ 1.เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Voices - Senior Youth และ 2.เหรียญเงินจากการแข่งขันประเภท S Sacred / Church Choir

ซึ่งสมาชิก MU Choir เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะ/สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีใจรักในการร้องเพลง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ฯลฯ

อาจารย์ ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการอำนวยเพลงด้านการขับร้องประสานเสียง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเพลงคณะนักร้องประสานเสียง MU Choir กล่าวว่า "MU Choir เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เราต้องการจะเผยแพร่กิจกรรมดนตรีไปยังนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเอกดนตรี เพื่อให้เสียงเพลงเข้าไปสู่จิตใจ ให้นักศึกษาได้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน"

"มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า เด็กที่ได้ร้องเพลงประสานเสียง จะมีผลการเรียนดีขึ้น โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่า นักศึกษาที่มาร้องเพลงประสานเสียง นอกจากมีทักษะการเรียนดีขึ้นแล้ว ยังมีทักษะทางสังคมที่ดีขึ้นด้วย เนื่องจากได้มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้ร้อง และนักศึกษาจากคณะอื่นๆ"

อาจารย์ ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า "การร้องเพลง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พัฒนาสุขภาพองค์รวมได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งการร้องเพลงที่ดีนั้นนอกจากจะต้องใช้ทั้งตัว กล้ามเนื้อทุกส่วนต้องทำงานด้วยกันแล้ว ยังได้ฝึกการหายใจ โดยงานวิจัยบอกว่า การร้องเพลงประสานเสียงนั้นเหมือนกับการเล่นโยคะ โดยมีหลักการควบคุมลมหายใจที่คล้ายกัน และให้ผลใกล้เคียงกัน"

"ยิ่งไปกว่านั้น การร้องเพลงประสานเสียงทำให้เรารู้สึกมีพลัง และให้สมองได้หลั่งสารแห่งความสุขออกมา เหมือนกับเวลาที่เรากินช็อกโกแลตหวานๆ แล้วรู้สึกมีความสุข แต่การร้องเพลงประสานเสียงดีกว่า ตรงที่เราไม่ต้องมีปัญหาเรื่องแคลอรี่ หรือน้ำตาลในเลือดสูง แต่ได้สารแห่งความสุขเหมือนกัน"

"โดยในทุกปี MU Choir จะคัดเลือก (Audition) นักศึกษาให้เข้ามาร่วมวง จากการแสดงความสามารถด้านการขับร้องและการทดสอบโสตประสาท พร้อมทั้งความสามารถในการเลื่อนบันไดเสียงขึ้นลง เพื่อทดสอบช่วงเสียงและคุณภาพเสียง และการสอบสัมภาษณ์ โดยการฝึกซ้อมมีขึ้นทุกวันพุธเวลา 17.00 - 20.00 น."

"จริงๆ วิธีการคัดเลือกเราไม่ได้ซีเรียสมากนัก ถ้าวงระดับสูงๆ จะดูว่าอ่านโน้ตเป็นมั้ย ในขณะที่ของเราแม้อ่านโน้ตไม่เป็น จะไม่เป็นเด็กดนตรีก็ได้ แต่ถ้ากดเปียโนเสียงนี้แล้ว นักศึกษาร้องตามได้ หรือสอนอะไรไปแล้วปรับได้ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว" อาจารย์ ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ กล่าว

ด้าน นางสาวปฏิญญา ตริวิวัฒน์กุล หรือ "ปาล์มมี่" นักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา ชั้นปีที่ 4 ได้ให้มุมมองที่แตกต่างออกไป โดยพูดถึงความสำคัญของการอ่านโน้ต คิดว่าการมีความรู้พื้นฐานในการอ่านโน้ต จะทำให้เราจับคีย์เสียงได้แม่นยำขึ้น ซึ่งโน้ตจะเป็นตัวกลางที่เชื่อมหลายๆ คนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ การที่เรารู้โน้ต ยังสามารถช่วยเพื่อนๆ ที่อ่านโน้ตไม่เป็นให้ร้องได้ตามระดับเสียงที่ตัวเองต้องร้องได้ด้วย ซึ่งการได้มาร่วมวง MU Choir ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนจากหลากหลายคณะ ช่วยให้เราได้เรื่องของการมีสังคมมากขึ้นด้วย

มาที่น้องใหม่ของวง MU Choir นางสาวพัตรสินี ตระการไพโรจน์ หรือ “ฝ้าย” ที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เอกภาษาอังกฤษ เล่าถึงการแข่งขัน The 8th BICF - Bali International Choir Festival ที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่ารู้สึกประทับใจเพราะเป็นการแข่งขันครั้งแรกในฐานะสมาชิกวง MU Choir ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง การทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการรับมือกับอุปสรรคหรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมองว่า “การได้ทำในสิ่งที่เรารัก มักจะนำความสุขมาให้เราเสมอ”

เช่นเดียวกับ นายภูบดี อภิรติธรรม หรือ "ภู" ซึ่งกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองว่า การมีได้โอกาสไปแข่งขันขับร้องเพลงประสานเสียงในระดับนานาชาติเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเอง ได้ฝึกประสบการณ์ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ นอกจากนี้ การที่เราเรียนหนักแล้วมาร้องเพลง ก็เหมือนกับการได้ผ่อนคลายตัวเอง ได้พักผ่อนสมอง ทำให้มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ฝึกบุคลิกภาพต่างๆ ด้วย เช่น การยืน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสรีรวิทยาของร่างกาย โดยการร้องเพลงจะต้องใช้ความเสถียรของร่างกาย เราต้องยืนให้สง่างาม

ส่วน นางสาวชฎาทิพ จงไกรรัตนกุล หรือ “เชอรี่” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักร้องประสานเสียง MU Choir ที่ร่วมวงมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 จนสามารถร้องได้ทั้งเสียง Alto ซึ่งเป็นเสียงต่ำ และเสียง Soprano ซึ่งเป็นเสียงสูง โดยทั้งสองเสียงมีเทคนิคการใช้เสียงที่แตกต่างกัน เชอรี่มองว่า Soprano เป็นเสียงที่ไพเราะเสียงหนึ่ง ต้องใช้พลังในการทำให้เสียงขึ้นไปมากกว่า Alto ที่ใช้ chest tone เป็นหลัก และให้ความรู้สึกอบอุ่น ซึ่งทุกระดับเสียงล้วนมีความสำคัญ ทำให้เพลงมีมิติมากขึ้นเวลาร้องสอดประสานกัน

อาจารย์ ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ กล่าวถึงจุดเด่นที่ทำให้ MU Choir คว้ารางวัลในระดับโลกว่า "ส่วนใหญ่วงเราจะได้รับคำชมจากคณะกรรมการตัดสินในเรื่องของคุณภาพเสียงที่สื่อออกไปว่า เป็นเสียงที่เหมาะสมกับการขับร้องประสานเสียง ซึ่งจุดสำคัญของการขับร้องประสานเสียง คือ จะร้องเหมือน 40 คนร้องไม่ได้ เสียงต้องเหมือนกับคนเดียวร้องใน 4 แนว โดยแต่ละแนวจะร้องตามแบบของตัวเอง แล้วทำให้กลมกลืน"

"เพลงที่นำมาใช้ประกวด ขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขัน ซึ่งการขับร้องประสานเสียงเพลงไม่ใช่รากเหง้าของวัฒนธรรมไทย แต่มาจากตะวันตกอย่างเพลงที่ร้องกันในโบสถ์ที่เราคุ้นเคย แต่พอคณะกรรมการรู้ว่าเรามาจากประเทศไทย เขาก็อยากฟังเพลงไทยของเรา จึงไม่จำเป็นต้องเอาบทเพลงฝรั่งมาใช้ในการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถที่จะเอาเพลงไทยๆ อย่างเพลงไทยเดิม เพลงลูกกรุง และเพลงพื้นบ้านของเรามาประยุกต์ขับร้องประสานเสียงได้ ซึ่งถือเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่กำลังเป็นที่ต้องการในการแข่งขันระดับโลก"

"การที่เราสามารถทำให้ดนตรีแพร่กระจายออกไปในกลุ่มคนที่ไม่ใช่เด็กดนตรี และผลักดันพวกเขาเหล่านี้สู่ระดับนานาชาติ คว้ารางวัลในระดับโลกได้ ถือว่าได้ทำให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งในการแข่งขันกีฬามีปลายทางที่โอลิมปิก แต่ในการแข่งขันขับร้องเพลงประสานเสียง แม้เรายังไม่ถึงตรงนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" อาจารย์ ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามผลงาน MU Choir ได้ที่ FB: MU Choir

 

Comments

Share Tweet Line