จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 13 ความสำเร็จครั้งใหม่ของวงการศิลปะและวรรณกรรมไทย

จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 13 ความสำเร็จครั้งใหม่ของวงการศิลปะและวรรณกรรมไทย

ท่ามกลางกระแสดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมาก หนึ่งในเวทีประกวดผลงานศิลปะที่โดดเด่น แตกต่าง ส่งเสริมให้เยาวชนไทยรักการอ่าน และภูมิใจในความงดงามทางภาษาในวรรณกรรมไทยอย่าง โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 13 โดยบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ความสุข ความผูกพันของสังคมไทย” พร้อมถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่านนำเสนอเป็นภาพวาดจากจินตนาการ ที่ประกาศผลรางวัลชนะเลิศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างอบอุ่น เรียบง่าย และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศได้พูดถึงแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานบนเวที เพื่อให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ นางสาวมนทกานติ ฤทธิ์จำนงค์ จากโรงเรียนศรียาภัย ผู้ชนะการประกวดรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เจ้าของผลงาน “ความรู้สึกข้างใน” ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่อง “เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ” กล่าวว่า

“เหตุผลที่ดิฉันเลือกวรรณกรรมเล่มนี้เพราะบ้านอยู่ใกล้รางรถไฟ แล้วตัวเอกก็มีความใกล้เคียงกับชีวิตของตัวเองมาก ดิฉันเลยเข้าใจความรู้สึกของตัวละครอย่างดี ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้มานานแล้วค่ะ บวกกับชอบวาดรูปอยู่แล้ว เลยตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวด ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนเล่นโซเชียลกันหมด ดิฉันมองว่าโครงการนี้ทำให้เด็กไทยมองเห็นคุณค่าที่อยู่ในตัวอักษร ทำให้เราได้สัมผัสเสน่ห์ของการพลิกหน้ากระดาษและกลิ่นหอมของกระดาษ รางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ดิฉันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นต่อ ๆ ไป”

เช่นเดียวกับความรู้สึกของ นายผจงภักดิ์ เอาเจริญภักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (เพาะช่าง) ผู้ชนะการประกวดรางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา เจ้าของผลงาน “โฮปเฟล” ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่อง “ไผ่แดง” ซึ่งส่งผลงานเข้าประกวดบนเวทีนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต “ผมใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานอยู่สองสัปดาห์ครับ พอได้รับรางวัลแล้วรู้สึกดีใจมาก อยากขอบคุณอินทัชที่มอบรางวัลนี้เป็นทุนการศึกษา เพราะการเรียนศิลปะค่าใช้จ่ายสูงมาก จากนี้ผมจะส่งผลงานเข้าประกวดเวทีอื่น ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รางวัลนี้สำหรับผมเป็นเหมือนกำลังใจสำคัญให้เรารับรู้ว่า ศิลปะสามารถส่องทางกันและสื่อสารสิ่งที่อยู่ในความคิดของเราออกไปให้คนรับรู้ได้ เท่านี้ผมก็ดีใจแล้ว แม้ในอนาคตงานของผมจะไม่ได้รางวัล อย่างน้อยเราได้ส่งผลงานเข้าประกวดก็มีความสุขแล้วครับ”

การประกวดในครั้งนี้ ยังส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา “ทมยันตี” ที่พูดถึงความประทับใจในทุกครั้งที่ได้ชื่นชมผลงานและรับฟังคณะกรรมการท่านอื่น ที่ต่างก็เป็นศิลปินชั้นครูของเมืองไทย

“ดิฉันได้เรียนรู้การพิจารณางานศิลปะผ่านการฟังศิลปินชั้นครูทุกท่าน เมื่อนำมาผสมผสานกับวิธีการพรีเซ็นต์นำเสนอผลงานของเยาวชน ทำให้ดิฉันเข้าถึงแรงบันดาลใจและจิตวิญญาณของคนเขียนรูปมากขึ้น ถ้าศิลปินวาดรูปด้วยหัวใจจะสร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามลึกซึ้งได้ ดังนั้น ดิฉันจึงอยากให้เด็กๆ และเยาวชนฟังเสียงหัวใจของตัวเองและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะหรืองานเขียนให้ดีที่สุด เพราะการประกวดอินทัชช่วยให้เยาวชนรักการอ่านมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็จะมีภาพวาดที่มีคุณค่าไปประดับอยู่ในบ้านของคนไทยเช่นกัน”

อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2557 สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) กล่าวชื่นชมผลงานของเยาวชนและยอมรับว่า ปีนี้หลายคนมีพัฒนาการที่โดดเด่นและถือเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความสำเร็จของโครงการ “ผมเห็นความก้าวหน้าของเด็กรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ กล้าคิดกล้าแสดงออก รุ่นผมยังเน้นด้านทักษะและเทคนิค แต่ปัจจุบันน้อง ๆ สามารถถ่ายทอดความคิดและจินตนาการได้กว้างไกล”

“ส่วนหนึ่งเพราะดิจิทัลช่วยให้เด็ก ๆ สามารถค้นคว้าหาข้อมูลและชื่นชมผลงานศิลปะได้ทั่วโลก ทำให้พวกเขาค้นพบความชอบและสไตล์การทำงานของตัวเอง และช่วยให้ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองได้เร็วขึ้นเช่นกัน ผมอยากให้น้อง ๆ ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน พอเราได้อ่านหนังสือหรือศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นจะช่วยให้เรามีจินตนาการและสร้างสรรค์ผลงานได้ดี ทุกวันนี้วงการศิลปะเริ่มเข้าไปมีบทบาทและเชื่อมโยงกับสังคมไทยในแง่มุมที่หลากหลาย การประกวดอินทัชได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะและวรรณกรรมที่มีคุณค่าของไทย” 

ไม่เพียงส่งเสริมให้เยาวชนไทยรักการอ่านและสร้างจินตนาการในรูปแบบของ “ศิลปะส่องทางกัน” หากแต่อีกหนึ่งความพิเศษของการประกวดในครั้งนี้คือ รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนให้แก่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ขึ้นกล่าวขอบคุณบนเวทีและย้ำถึงความสำเร็จของโครงการนี้ ในฐานะ “ผู้ให้” โอกาสที่ยิ่งใหญ่แก่อนาคตของเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา

“ที่ผ่านมา อินทัชได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินไปแล้วกว่า 7 ล้านบาท เพื่อนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาในโครงการ ‘บัณฑิตคืนถิ่น’ เพราะหมอในต่างจังหวัดขาดแคลนเงินทุนในการศึกษา โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 13 ถือเป็นโครงการที่มีแต่ ‘การให้’ นั่นคือการให้นักเรียน-นักศึกษาได้อ่านวรรณกรรมไทยแล้วนำมาถ่ายทอดเป็นภาพวาดจากจินตนาการ อีกทั้งยังมอบทุนให้แก่สถาบันการศึกษาที่ลูกศิษย์ได้รับรางวัลด้วย สำหรับดิฉันแล้วทุกคนที่ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนี้ถือเป็นความภูมิใจของคนไทย ในนามตัวแทนของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ต้องขอขอบคุณอินทัชมา ณ ที่นี้ ที่มอบโอกาสที่ยิ่งใหญ่และสานฝันให้เด็กไทยที่มีความรู้แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีทุนการศึกษาและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม”

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนผลงานของเยาวชน ผ่านการจำหน่ายภาพการกุศลสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รายได้ทั้งหมด (โดยไม่หักค่าใช้จ่าย) เพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้ที่ www.intouchcompany.com ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ติดตามผลการประกาศรางวัลและข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ที่ FB : intouchstation สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 082-796-1670-1, 02-934-6767 และ 02-118-6953 หรือ Line ID: Jintanakarn.intouch

Comments

Share Tweet Line