กท.วัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับ สำนักงานตัวแทนไทเป, ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ และ เอส เอฟจัด “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันประเทศไทย 2019”

กท.วัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับ สำนักงานตัวแทนไทเป, ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ และ เอส เอฟจัด “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันประเทศไทย 2019”

กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  และ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมจัด “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันประเทศไทย 2019” ครั้งที่ 2  เพื่อเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศไต้หวัน พร้อมสร้างการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การดำรงชีพของชาวไต้หวันผ่านทางแผ่นฟิล์ม โดยเทศกาลนี้ถือเป็นการสานต่อความสำเร็จ พัฒนาจากโปรเจคท์ภาพยนตร์สารคดีที่  เอส เอฟ ร่วมกับ ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ ทำต่อเนื่องและประสบความสำเร็จมากว่า 5 ปี ภายในเทศกาลฯ คัดสรรภาพยนตร์สารคดีคุณภาพที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความหลากหลายของวัฒนธรรมจากประเทศไต้หวัน พร้อมบทบรรยายภาษา ไทย-อังกฤษ มาให้คอภาพยนตร์ได้ร่วมชม ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในราคาเริ่มต้นที่นั่งละ 200 บาท


ภาพยนตร์ที่น่าจับตามองจากประเทศไต้หวันเริ่มต้นที่ภาพยนตร์เปิดเทศกาล “Blood Amber ” ผลงานกำกับของ LEE Yong-chao ที่เคยได้รับการฉายมาแล้วที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โนในปี 2017 และที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เรื่องราว ณ ที่แห่งหนึ่งในประเทศพม่า มีป่าแห่งหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอำพัน และถูกควบคุมโดยกองกำลังอิสระคะฉิ่น เหล่าผู้อยู่อาศัยหาเลี้ยงชีพด้วยการขุดเหมืองแร่อำพันที่เป็นเหมือนความหวังหนึ่งเดียวที่จะพาพวกเขาออกจากความยากจน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แสนยากลำบาก การหลับใหลด้วยความหวาดกลัวการโจมตีจากกองกำลังของรัฐบาล ชีวิตที่นี่สิ้นหวังประหนึ่งปลายอุโมงค์เหมืองอันแสนมืดมิด

“14 Apples” ภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมอสโก เรื่องราวของหวัง ชิน-ฮง นักธุรกิจใหญ่จากมัณฑะเลย์กำลังประสบปัญหาจากการนอนไม่หลับ หมอดูแนะนำให้เขาซื้อแอปเปิ้ลสิบสี่ลูกและเดินทางไปยังอารามหนึ่งในชนบทของพม่าเป็นเวลาสองอาทิตย์ และให้ใช้ชีวิตเยี่ยงพระสงฆ์ ในแต่ละวันให้กินแอปเปิ้ลลูกเดียวเป็นอาหาร เขาโกนหัว ดื่มด่ำกับชีวิตสงฆ์ และพยายามปฎิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามในไม่ช้า เขาได้ประสบกับอีกมุมของความเป็นจริงว่าการปฎิบัตินี้ที่ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลทฤษฎีจริงของมันเหลือเกิน

 “Our Youth In Taiwan ”  ภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ หรือ Golden Horse Film Festival ปี 2018 ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ เป็นเรื่องราวของคน 3 คน คนหนึ่งคือ นักเคลื่อนไหว ดาวเด่นในขบวนการนักศึกษาไต้หวันผู้ยืนหยัดต่อต้านจีน อีกคนคือ นักศึกษาชาวจีนผู้หลงรักไต้หวัน และสุดท้ายคือ “ฉัน” ผู้กำกับหนังสารคดีไต้หวันผู้หลงใหลในการเมือง พวกเราสามคนอยู่ในหนังเรื่องนี้ เรื่องราวของการจากลาและการเติบโตของวัยรุ่นที่เราพบเห็นได้ทั่วไป พวกเรามีความฝันร่วมกันว่า เราอยากสร้างประเทศให้ดีกว่าที่มันเคยเป็น เราต่อต้าน กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล และหลังจากหนึ่งในการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันในรอบยี่สิบสี่ปีได้เกิดขึ้น เราได้เข้าใกล้จุดที่เราจะเข้าใจได้ว่าเราต่อสู้ไปเพื่ออะไร แต่ด้วยอะไรบางอย่าง เราค่อยๆพานพบกับความผิดหวังเพิ่มขึ้นทีละน้อยแล้วมันจะเป็นไปได้ไหมที่พวกเราจะยังคงต่อสู้ต่อไปเพื่ออุดมคติที่เราตามหา แต่อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ครั้งนี้ก็ถูกบันทึกอยู่ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ระหว่างจีนและไต้หวันเรียบร้อยแล้ว

“Turning 18 ” เรื่องราวของฮุยเฉินเกิดในครอบครัวชนพื้นเมืองที่บ้านแตกสาแหรกขาด ตลอดชีวิตเธอตามหาบ้านในอุดมคติมาโดยตลอด หลังจากอายุครบสิบแปด เธอต้องทำการตัดสินใจ เธอควรจะออกมาจากบ้านหรือไม่ และแม้ว่านั่นคือสิ่งที่เธอเลือก เธอจะสามารถทำมันได้จริงๆ หรือ เด็กสาวที่ตัดสินใจเช่นนั้น ยังคงเป็นตราบาปอยู่เสมอ ในกระแสสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ่งเดียวที่ครอบครัวมอบให้คือ ภัยอันตรายที่ไม่รู้จบเช่นนี้แล้ว การออกจากบ้านจะเป็นเพียงการหลีกหนีที่ไร้ความรับผิดชอบ หรือเป็นการกระทำที่รับผิดชอบต่อตัวเองกันแน่

 “The Shepherds” เล่าเรื่องของนักบวชหญิงผู้หนึ่ง ได้ก่อตั้ง โบสถ์สำหรับกลุ่มเพศทางเลือกขึ้นเป็นแห่งแรกในไต้หวัน นี่คือโบสถ์ที่มอบความปลอดภัยให้กับกลุ่มคนผู้ถูกปฎิเสธจากสังคมและศาสนามาโดยตลอด และแม้ว่าผู้ก่อตั้งจะเสียชีวิตแล้ว แต่สมาชิกของโบสถ์ก็ยังพยายามทุกวิถีทางให้เสียงและเรื่องราวของพวกเขาถูกได้ยิน ในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับความขัดแย้งในศาสนาพร้อมกันไปด้วย แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม พวกเขามุ่งมั่นที่จะสู้ต่อไป เพื่อหวังว่าสักวันความรักจะมีชัยเหนือความเกลียดชัง และความเข้าใจผิดทั้งหลายจะถูกแก้ไขได้ในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีมาให้เลือกชม อาทิ “Your Face”, “Swimming on the Highway” “Opening Closing Forgetting” และอีกมากมายถึง 9 โปรแกรมฉาย และโปรแกรมภาพยนตร์สารคดีสั้นอีก 2 ชุด รวมกว่า 24 เรื่อง มาให้เลือกชมกันอย่างเต็มอิ่ม

สำหรับ “เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันประเทศไทย 2019 ” จะจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม  – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในราคาเริ่มต้นที่นั่งละ 200 บาท และพิเศษในปีนี้เพื่อเปิดโอกาสให้คอหนังได้รับชมภาพยนตร์ในเทศกาลอย่างทั่วถึง จึงได้ไปจัดฉายอีก 2 ภาค 2 จังหวัด ทั้ง ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เม-ญ่า ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ที่ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2562 ในราคาเริ่มต้นที่นั่งละ 150 บาท

ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น SF Cinema และ sfcinemacity.com ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านโซเชียลมีเดีย WeLoveSF หรือ #SFcinema และเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ที่หน้าโรงภาพยนตร์

 

Comments

Share Tweet Line