ราชมงคลพระนคร ส่งครูอาสาปั้นอาชีพชาวภูฏาน ปี 2

ราชมงคลพระนคร  ส่งครูอาสาปั้นอาชีพชาวภูฏาน  ปี 2

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า  การบริการวิชาการแก่สังคม ถือเป็นพันธกิจอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่สะท้อนถึงศักยภาพทางวิชาการและคุณภาพทางการศึกษา โดยหนึ่งพันธกิจสำคัญ คือการส่งคณาจารย์ไปเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างและพัฒนาอาชีพ ณ ราชอาณาจักรภูฏาน ณ เมือง Thimphu  Sibsan และ Gelephu ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2562 ผ่านกิจกรรมครูอาสาสมัครเพื่อนไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง Home Ownership Project Endowment  หรือ  HOPE Project, His Majesty’s Secretariat และความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ  (TICA)  กระทรวงการต่างประเทศ


 “ทั้งนี้โครงการ HOPE  Project  ก่อตั้งโดยสำนักพระราชวัง ราชอาณาจักรภูฏาน ได้เล็งเห็นถึงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นและผู้ด้อยโอกาสให้มีอาชีพ เกิดความรู้ใหม่นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวต่อไป  โดยปีนี้มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดส่งทีมอาจารย์อาสาสมัครลงพื้นที่สอนหลักสูตรระยะสั้น 4  หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรช่างซ่อมเครื่องใช้ในบ้าน โดย ผศ.ดร.ศุภวุฒิ เนตรโพธิ์แก้ว อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์  หลักสูตรช่างตัดเสื้อ  โดย ผศ.อภิรัติ โสฬศ   หลักสูตรขนมอบ โดย ผศ. ณนนท์ แดงสังวาลย์ และหลักสูตรการทำอาหาร โดยอาจารย์ศันสนีย์ ทิมทอง อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์”  รศ.สุภัทรา กล่าว

ด้าน นางปิยะธิดา สีหะวัฒนกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และราชอาณาจักรภูฏาน  ทำให้คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ได้รับโอกาสจากกระทรวงการต่างประเทศ  ผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA ในการส่งครูอาสาสมัครเป็นวิทยากรฝึกอบรมวิชาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า การทำเบเกอรี่ และการประกอบอาหารให้บุคคลในศูนย์การเรียนรู้ราชอาณาจักรภูฏาน เป็นปีที่ 2  ภายในศูนย์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกฝนอาชีพต่าง ๆ เพื่อฝึกบุคคลหรือครูต้นแบบให้นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้ประชาชนนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป

ส่วน ผศ.อภิรัติ โสฬศ อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ วิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรช่างตัดเสื้อ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ผู้เรียนสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในท้องถิ่นของตนได้เป็นอย่างดี โดยสอนตั้งแต่พื้นฐาน รายละเอียดปลีกย่อยจนสามารถสร้างเป็นชุดสำเร็จรูปได้ อาทิ การวัดหุ่น การสร้างแบบตัดเสื้อ-กระโปรง การสร้างแพทเทินชุดเสื้อคอตั้ง กระโปรงทรงตรง และชุดนอน โดยการตัดเย็บจะให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการตัดเย็บเสื้อผ้ารูปแบบอื่น ๆ ต่อไป 

ด้าน ผศ. ณนนท์ แดงสังวาลย์  อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ วิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรขนมอบ กล่าวว่า  การอบรมได้นำวัตถุดิบท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของชุมชุน มาพัฒนาสูตรที่สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี โดยผู้เรียนสามารถนำหลักการพื้นฐานไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเมนูขนมอบต่าง ๆ ให้กับธุรกิจร้านคาเฟ่ หรือร้านเบเกอรี่ เช่น การเรียนรู้การผลิตเบเกอรี่พื้นฐานประเภทต่าง ๆ วัตถุดิบและส่วนผสม การเรียนรู้การทำขนมหวานจากข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายจากท้องถิ่น  โดยการออกแบบทุกเมนูผู้เรียนสามารถนำไปสร้างสรรค์กับธุรกิจของตนเอง เพื่อรองรับการขยายตัวการท่องเที่ยวในอนาคต  นอกจากนี้ได้ฝากทักษะด้านการปั้นแต่งหน้าเค้กให้ผู้เรียนนำไปฝึกพัฒนาสร้างอาชีพต่ออีกด้วย

ขณะที่ อาจารย์ศันสนีย์ ทิมทอง อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ วิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรการทำอาหาร กล่าวว่า  การเรียนการสอนได้มีการนำวัตถุดิบที่มีตามท้องถิ่นไปปรับประยุกต์ เพื่อสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ ๆ การสอนเริ่มตั้งแต่ทำน้ำสต๊อก ซุป  อาหารจานออเดิร์ฟ  รวมถึงการทำพาสต้าจากแป้งบัควีท (buckwheat) ซึ่งเป็นแป้งท้องถิ่น ตั้งแต่การนวดแป้ง การรีดเส้น การนำไปประกอบอาหาร  และการนำเสนออาหารด้วยการจัดตกแต่งจานให้ดูน่าสนใจ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดฝีมือของตนได้

และ ผศ.ดร.ศุภวุฒิ เนตรโพธิ์แก้ว อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องใช้ในบ้าน กล่าวว่า ได้นำความรู้ด้านการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนไปถ่ายทอด อาทิ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ กระติกน้ำร้อน โดยการสอนจะเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำไปทดสอบ ตรวจสอบ และซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง

 นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่ได้ส่งตัวแทนคณาจารย์เพื่อเข้าร่วมบริการวิชาการด้านการตัดเย็บ เบเกอรี่ และการประกอบอาหารไปเผยแพร่ สิ่งที่คาดหวังคือต้องการสร้างต้นแบบให้แก่ชาวภูฏาน เพื่อนำไปต่อยอดให้กับชุมชน ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและยกระดับความเป็นอยู่ในอนาคต

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line