เสมา 1 หนุนดนตรีไทยสู่สากล ฝากการบ้านโรงเรียนบางบาลให้เวลา 4 เดือนพัฒนาเด็ก ก่อนพาโชว์ต่างชาติ

เสมา 1 หนุนดนตรีไทยสู่สากล ฝากการบ้านโรงเรียนบางบาลให้เวลา 4 เดือนพัฒนาเด็ก ก่อนพาโชว์ต่างชาติ

เสมา 1 หนุนดนตรีไทยสู่สากล ฝากการบ้านโรงเรียนบางบาลให้เวลา 4 เดือนพัฒนาเด็ก ก่อนพาออกงานโชว์ต่างชาติ พร้อมเรียกประชุมผู้บริหารสถานศึกษาประถม มัธยมในจังหวัดอยุธยา มอบนโยบายเร่งปฏิรูปโรงเรียนให้เป็นต้นแบบรองรับ การท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรมและการเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของจังหวัด 


โรงเรียนบางบาล/ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงน “ครบรอบ 66 ปีโรงเรียนบางบาล” เปิดศูนย์เรียนรู้ดนตรีไทย ศิษย์ครูสุวรรณ ทับทิมเจือ และภูมิปัญญาท้องถิ่น” โดยมี นายนิวัฒน์ ภาตะนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางรัตนา หวังเทพอนุเคราะห์ สมาชิกสภาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธวัช สุวรรณ นายอำเภอบางบาล นายสุรชาติ เครือศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 3 ผู้บริหารโรงเรียนมัธยม จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนประถม อ.บางบาล ผู้บริหารท้องถิ่น คณะครูอาจารย์ นักเรียนโรงเรียนบางบาล และสมาคมนักเรียนเก่าบางบาล ให้การต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา 

นายณัฏฐพล กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเปิดงานในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าโรงเรียนบางบาลจะเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก แต่ด้วยกระทรวงศึกษาธิการตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็นคุณภาพและประสิทธิภาพของการศึกษาในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ พลเรือน ผู้บริหารทุกระดับ ตลอดจนสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท โดยระดับมัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายมุ่งต่อยอดระดับประถมศึกษา ด้วยการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ หรือ STEM และภาษาต่างประเทศเป็นภาษาที่สาม นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานเชื่อมโยงสู่การสร้างอาชีพและการมีงานทำ เช่นทักษะด้านดนตรี กีฬา การฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่ทักษะอาชีพในอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการเตรียมคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนบางบาล ก่อตั้งขึ้นด้วยด้วยปณิธานอันแน่วแน่ที่ต้องการให้เด็กในท้องถิ่นได้มีที่เรียน ในระยะทางที่ไม่ไกลจากบ้านนัก ตลอดระยะเวลา 66 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนบางบาลผลิตศิษย์เก่าให้เติบโตและประสบความสำเร็จเป็นกำลังหลักของประเทศในหลากหลายสาขาอาชีพ อีกทั้งยังรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ดนตรีไทย และภูมิปัญญาไทยไว้อย่างน่าชื่นชม นอกจากนี้ยังมีความพยามที่จะพัฒนานักเรียนให้มีความพร้อมทั้งทางด้าน ดนตรี กีฬา วิชาการ และงานฝีมือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กนักเรียนที่จบอออกไปใช้ชีวิต เป็นพลังแห่งคุณภาพของสังคม อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนบางบาลจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นโรงเรียนในชนบท แต่ผมเชื่อมั่นในศักยภาพ ความพร้อม ในเครือข่ายที่เข้มแข็งในรูปแบบ “บวร”แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของโรงเรียนบางบาล ได้ทำงานร่วมกันได้ดี ทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนเครือข่ายทางการศึกษา โดยเฉพาะสมาคมนักเรียนเก่าบางบาล ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งด้าน ดนตรี กีฬา วิชาการ ตลอดจนงานฝีมือ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ระดับชาติในหลายรายการ” นายณัฏฐพล 

“สิ่งที่ผมเห็นคือ เด็กที่โรงเรียนบางบาลมีศักยภาพด้านดนตรีไทย แต่สิ่งที่ยังขาดคือการพัฒนาสู่สากล ผมให้เวลา 4 เดือน ที่จะพัฒนาเด็กให้เล่นเพลงสากลโดยใช้ดนตรีไทย และเด็กนักเรียนทุกคนจะต้องพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการเชื่อมต่อกันทั่วโลก เพื่อนำจุดแข็งของโรงเรียนของประเทศ ไปเผยแพร่ให้ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพ” รมว.ศธ. กล่าว 

ด้านนางธนภร เกิดนาวี ผู้อำนวยการโรงเรียนบางบาล กล่าวว่า ในนาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบางบาล มีความยินดีและขอกราบขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ท่านกรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิด “ครบรอบก่อตั้ง 66 ปีโรงเรียนบางบาล” ในวันนี้ พร้อมกับการเปิดตัว “ศูนย์เรียนรู้ดนตรีไทยครูสุวรรณ ทับทิมเจือและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ของประเทศ ให้สามารถบริการด้านความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเป็นกลไกหนึ่งของการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ดนตรีไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเชิญศิษย์เก่าที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีเครื่องสายและมโหรี มาช่วยสอนดนตรีไทย และในปีการศึกษา ๒๕๖๓ เด็กนักเรียนโรงเรียนบางบาลทุกคนตั้งแต่ ม.1 - ม.6 จะต้องเรียนดนตรีไทยอย่างน้อยหนึ่งชิ้น ตามความถนัดของแต่ละคน นอกจากนี้โรงเรียน จะเชิญปราชญ์ชาวบ้าน มาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรัก หวงแหนในภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของ จ.พระนครศรีอยุธยาต่อไปในอนาคต สามารถสร้างรายได้ในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย 

นางธนภร กล่าวว่า ในปี 2560 สมาคมนักเรียนเก่าบางบาลสนับสนุนงบประมาณการจัดติวโอเน็ตให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปรากฎว่าโรงเรียนได้ลำดับที่ 4 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แซงหน้าโรงเรียนขนาดใหญ่อีกหลายโรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากเด็กได้รับโอกาส ความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็จะไม่แตกต่างกัน ขณะเดียวกัน โรงเรียนบางบาลยังโดดเด่นเรื่องกีฬา โดยนักกีฬาทีมชาติเอเชียนเกมส์เหรียญทองร่มร่อน ก็เป็นศิษย์ของโรงเรียนบางบาล ที่โรงเรียนสนับสนุนให้ฝึกซ้อม และทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทำให้ประสบความสำเร็จและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ นอกจากนี้ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของโรงเรียนบางบาลคือด้านดนตรี โดยล่าสุด ในงาน ศิลปหัตถกรรมระดับประเทศ ครั้งที่ 69 ที่จังหวัดสมุทรปราการ นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบางบาล ก็ได้รางวัลเหรียญทอง เดี่ยวระนาดทุ้ม ระดับ มัธยมต้น เช่นเดียวกับงานฝีมือ การจัดพานพุ่มบายศรี ก็สามารถคว้ารางวัลในระดับประเทศได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

“จะเห็นได้ว่า แม้โรงเรียนบาลจะเป็นโรงเรียนภูธร แต่หากได้รับโอกาสและการสนับสนุนอย่างเพียงพอก็จะสามารถสู้กับโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้โรงเรียนบางบาลยังอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด จึงทำให้เกิดความเสียหายในหลายจุดและยังไม่ได้รับการปรับปรุง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยใช้ร่วมกัน บัดนี้เป็นบ่อลึกและรกร้างเนื่องจากขุดดินไปทำเป็นคันดินป้องกันน้ำท่วมและใช้สัญจรเมื่อปี 2554 หากเป็นไปได้ก็อยากได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อใช้สำหรับทำสนามกีฬา และใช้งานร่วมกับวัดโบถส์ และชุมชนต่อไป” ผู้อำนวยการโรงเรียนบางบาล กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการตรวจเยี่ยมและชมภูมิทัศน์โดยรอบของโรงเรียนบางบาลแล้ว รมว.ศธ.ได้เรียกประชุมผู้บริหารสถานศึกษาทั้งมัธยม และประถมที่มาร่วมงาน โดยให้นโยบายในการเร่งปฏิรูปโรงเรียนเพื่อให้สอดรับกับจุดแข็งของจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนนักเรียนสายอาชีวะต่อยอดสู่ทักษะการอาชีพที่รองรับแรงงานในท้องถิ่นด้วย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line