20 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสริมสร้างธรรมาภิบาล พัฒนางานสู่สากล

20 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสริมสร้างธรรมาภิบาล พัฒนางานสู่สากล

ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และลงนามความร่วมมือการก่อตั้งเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Ombudsman Forum : SEAOF) อำนวยความเป็นธรรม ขยายความร่วมมือคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน


นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ระหว่างวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล กรุงเทพมหานคร ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายใต้หัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง : ปรับตัวอย่างไรกับความท้าทายที่เกิดขึ้น”(Ombudsman in a changing world: resilience amidst challenges) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ พัฒนาทักษะด้านการสอบสวนและประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสมาชิกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในระดับพหุภาคีดูแลสิทธิเสรีภาพและอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนของแต่ละประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน

งานสัมมนาดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผู้ตรวจการแผ่นดินจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คณะผู้แทนทางการทูต / องค์กรระหว่างประเทศ สมาชิกรัฐสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานราชการ กว่า 500 คน เข้าร่วมงาน รวมทั้งได้รับเกียรติจาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และ Mr. Peter Tyndall ประธาน IOI ให้เกียรติกล่าวถ้อยแถลงแสดงความยินดี และการอภิปรายหลากหลายหัวข้อ เช่น การเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์และความท้าทายต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง : ผลกระทบและทางออก , บทบาทที่มากขึ้นของ Social media : ผลกระทบเชิงบวกและลบต่อองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน , ภาพลักษณ์ของผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และการส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดีกว่าเดิม , ทิศทางของผู้ตรวจการแผ่นดินในอนาคต : เทคนิคการร่วมมือและปรับตัววิธีการดำรงอยู่และเอาตัวรอดภายใต้ภัยคุกคาม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒินานาประเทศร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ ทิศทางการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์
ต่อประชาชน มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในวันดังกล่าวมีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย (Ombudsman Thailand) และประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งประเทศนิวซีแลนด์ และพิธีลงนามความร่วมมือการก่อตั้งเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ชื่อว่า “South East Asian Ombudsman Forum” (SEAOF) มีคณะผู้ก่อตั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นับเป็นการแสดงถึงจุดยืนขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมิได้มุ่งให้ความเป็นธรรมหรือดูแลเฉพาะประชาชนทุกคนที่พำนักในประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนของตนที่พำนักในประเทศสมาชิกอื่นด้วย เป็นการดูแลซึ่งกันและกัน หลังจากลงนามจัดตั้งอย่างเป็นทางการผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยจะได้รับเกียรติให้เป็นประธาน SEAOF คนแรก

นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของประชาชนทั้งในเชิงระบบและปัจเจกบุคคล เป้าหมายสำคัญคือการเยียวยาทุกข์ร้อนของประชาชนให้หมดไป ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงเดือนมกราคม 2563 ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั้งหมด จำนวน 48,441 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 46,209 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 95.39 สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการปกครอง ยังคงถูกร้องเรียนในลำดับต้น ๆ เพราะเป็นหน่วยงานพื้นฐานที่ประชาชนใช้บริการที่สุดปัญหาความไม่เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (2) การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ (3) การบริหารงานภาครัฐอื่น ๆ สำหรับสถิติเรื่องร้องเรียนย้อนหลังในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ระหว่าง 1 มกราคม 2562 – 31 มกราคม 2563) รับเรื่องร้องเรียนไว้ดำเนินการทั้งสิ้น 4,762 เรื่อง เฉพาะในรอบ 1 ปี มีจำนวน 3,174 เรื่อง เรื่องที่ยกมาจากปีก่อน จำนวน1,588 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 2,530 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2,232 เรื่อง

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line