ร่วมพลัง “บวชป่า-สร้างฝาย-ทำแนวกันไฟ”พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ “ปกาเกอะญอ”

ร่วมพลัง “บวชป่า-สร้างฝาย-ทำแนวกันไฟ”พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ “ปกาเกอะญอ”

ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ขาน จึงร่วมกับ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) , มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) , ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “บวชป่าและทำแนวกันไฟในพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยงลุ่มน้ำขาน เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553” ที่เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการเสริมพลังสร้างสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เครือข่ายประชาชนภาคเหนือตอนบน 6 จังหวัด” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)


ในเวทีเสวนา “วิถีชีวิตคนอยู่กับป่าให้ยั่งยืนได้อย่างไร”  ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านสบลาน  “พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ” เล่าให้ฟังถึงประวัติของหมู่บ้าน การเข้ามาของสัมปทานป่าไม้ที่เข้ามาจัดการกับไม้มีค่าตั้งแต่รุ่นปู่ ทั้งไม้สัก ไม้กระยาเลย ถูกตัดและขนออกไป โดยชาวบ้านได้แต่มองตาปริบๆ แม้ตัวของพะตีเองเมื่อสมัยวัยรุ่นยังต้องรับจ้างจากป่าไม้ไปตีตราต้นไม้ที่จะตัด “ป่าที่เหลืออยู่นี่เป็นป่าลูกป่าหลานที่พวกเราช่วยกันดูแลให้ฟื้นคืนกลับมา  ป่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ถูกตัดเอาไปหมดแล้ว” พะตีตาแยะกล่าวย้ำ

ในอดีตผืนป่าแห่งนี้เคยถูกทำสัมปทานป่าไม้ถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นชาวบ้านก็เข้ามาดูแล จัดการไฟป่า จนป่าฟื้นตัวกลับมา ในขณะเดียวกันภาครัฐเริ่มเข้มงวดกับการจัดการป่าไม้มากขึ้น มีการออกกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ที่ประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนทับที่ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวชุมชนสะเมิงใต้ที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคนกลายเป็นผู้รุกป่า เป็นคนนอกกฎหมายในแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง “พะตีตาแยะ” เล่าถึงการต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของการเป็นชุมชนมาก่อนที่ป่าไม้จะประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

“พะตีตาแยะ” เล่าต่อว่าภายหลังการประกาศแนวเขตอุทยานฯ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรวมตัวกันคัดค้าน จนในที่สุดมีข้อตกลงว่าจะมีการสำรวจเขตร่วมกัน พะตีตาแยะได้นำเดินสำรวจร่วมกับตัวแทนอุทยานฯ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 24 วัน ทำข้อมูลร่วมกันว่าจุดใดเป็นป่าช้า จุดใดเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เขตเลี้ยงสัตว์วัวควาย หรือไร่หมุนเวียน จับพิกัดมากกว่า 300 จุด ได้พื้นที่ 24,500 ไร่ แต่ในที่สุดหัวหน้าอุทยานฯ ก็กล่าวว่าตนไม่มีอำนาจจะต้องรอเสนอขึ้นไปให้ผู้ใหญ่ในระดับกรมพิจารณาอีกทีหนึ่ง

“เราไม่ได้คัดค้านการตั้งอุทยานฯ แต่อยากให้กันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของพวกเราออกมาก่อน” ปัจจุบันแม้ “พะตีตาแยะ” อธิบายเหตุผล ที่ถึงแม้วันนี้จะมีอายุ 73 ปีแล้ว ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจกับการทำความเข้าใจให้ หน่วยงานราชการและสังคมภายนอกรับรู้ว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ เพราะเมื่อต้นปีพ.ศ.2562 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความพยายามประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขานครอบคลุมเข้าไปในพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา ได้ชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐไม่เข้าใจความจริงอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ หนึ่งภาคเหนือตอนบนไม่เหมือนกรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลลงสู่เจ้าพระยาและอ่าวไทย แม่น้ำกกและอิงไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยภาคเหนือมีที่ราบสูงร้อยละ 60 ที่ราบลุ่มร้อยละ 10 ดังนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นป่าซึ่งจะใช้วิธีจัดการแบบเดียวกับภาคอื่นๆ ไม่ได้

“ดังนั้นพื้นที่ภาคเหนือต้องมีการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งโดยต้องเข้าใจระบบนิเวศและสภาพพื้นที่อย่างถ่องแท้ การทำในรูปแบบเดียวกันหมดจะเกิดความเสียหาย เรื่องที่สองคือ คนปกาเกอะญอมีความเคารพธรรมชาติซึ่งเป็นหลักหมุดในการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ภาครัฐมักมองธรรมชาติแบบมีมูลค่าและแปลงธรรมชาติให้เป็นทุน จึงส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่เข้าใจวิถีที่อ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรมชาติ” ชัชวาลย์ระบุ 

“พวกเราอยู่มาก่อนกฎหมาย สามารถพิสูจน์ได้ ปัญหาที่เราเจอคือกฎหมายที่ไม่เข้าใจและกำลังทำให้กะเหรี่ยงแทบไม่มีที่อยู่ที่กิน เรายืนยันว่าอยู่ที่นี่มานาน บรรพบุรุษสร้างให้พวกเราอยู่กับธรรมชาติ”  “พฤ โอโดเชา” ลูกชายของ “พะตีจอนนิ โอโดเชา” ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ กล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการออกมาเรียกร้อง ในระหว่างการปาฐกถาเรื่อง “วิถีปกาเกอะญอกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” 

โดยในงานครั้งนี้ยังมี พิธีบวชป่า, พิธีสุมาคารวะแม่น้ำขาน , ทำฝายธรรมชาติกั้นน้ำเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา, ทำแนวกันไฟ ทุกกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง เกื้อกูลและไปด้วยกันได้กับธรรมชาติของป่าเขาและสายน้ำ จะเรียกว่าชาวปกาเกอะญอเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของป่า เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็เห็นจะไม่ผิดนัก และในเวทีเสวนาเรื่อง “บ้านสบลานกับการดำเนินการมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553”  นักวิชาการหลายท่านได้ยืนยันตอกย้ำว่า “วิถีและการใช้ชีวิตของชาวบ้านปกาเกอะญอที่นี่ มีส่วนช่วยรักษาป่าต้นน้ำไว้ได้อย่างยั่งยืน”

ก่อนจบงาน เครือข่ายปกาเกอะญอลุ่มน้ำแม่ขาน ยังได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อปกป้องวิถีชีวิตปกาเกอะญอ ที่สรุปใจความได้ว่า “...ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรของชุมชนที่บรรพชนดูแลรักษาด้วยวิถีวัฒนธรรม ชุมชนกับการจัดการป่า มาช้านาน เราจักปกป้องรักษาและสืบทอดพื้นที่จิตวิญญาณ “คนกับป่า” ให้ดำรงอยู่...เพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตปกาเกอะญอ ภายใต้ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคมต่อไป...” 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ อันบอกให้รู้ว่าชาวบ้านสบลานจะต่อสู้เพื่อผืนป่าที่ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของพวกเขา แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปอด และต้นกำเนิดสายน้ำของคนไทยทุกคน ที่จะช่วยพยุงสภาวะโลกร้อนไม่ให้เลวร้ายเร็วจนเกินไปให้แก่พวกเราชาวโลกที่ก่อให้เกิดมลภาวะมากมายกว่าชาวบ้านสบลานหลายเท่านัก

Comments

Share Tweet Line