ปิดทองฯ “ ไม่ท้อ ไม่ถอย”วางเป้า 5 ปี สร้างรายได้เกษตรกร 4.8 พันล้านบาท

ปิดทองฯ “ ไม่ท้อ ไม่ถอย”วางเป้า 5 ปี  สร้างรายได้เกษตรกร 4.8 พันล้านบาท

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ประกาศเป้าหมายทำงาน 5 ปี ผ่านระบบ ออนไลน์ รับสถานการณ์โลก เกษตรกรมีรายได้รวม 4,888 ล้านบาท  สูงกว่าเส้นความยากจน บูรณาการทำงานใน 8 พื้นที่ 13 จังหวัด ร่วมชุมชน ข้าราชการ เอกชน ส่งเสริมอาชีพ น้อมนำพระราชดำรัส เป็นกำลังใจทุกภาคส่วน “ไม่ท้อ ไม่ถอย” ปรับการทำงานสู้วิกฤติภัยแล้ง ยกระดับเกษตรกรสู่พรีเมี่ยม ชุมชนอยู่รอด  พอเพียงและยั่งยืนตามพระราชดำริ


ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ แถลงผลการดำเนินงาน ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยประเด็นหลักนอกจากสรุปการทำงานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาแล้วยังพูดถึงแผนในอีก 5 ปีข้างหน้า และการรับมือกับวิกฤติการณ์ภัยแล้ง

แผนงานระยะ 5 ปี 2564-2568 มีการหารือร่วมกันหลายฝ่ายทั้ง คณะกรรมการมูลนิธิฯ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดตัวชี้วัด ชุมชนพื้นที่ต้นแบบเดิม จากการอยู่รอด สู่ความพอเพียงและยั่งยืนตามพระราชดำริ เมื่อครบตามแผนงานจะมีครัวเรือนประยุกต์ทฤษฎีใหม่ 6,433 ครัวเรือน มีรายได้ภาคการเกษตร 120,000 บาท/ครัวเรือน/ปี สูงกว่าเส้นความยากจน (102,763 บาท/ครัวเรือน/ปี) รายได้ทางการเกษตร 3,088 ล้านบาท  พื้นที่ชายแดนใต้ เกิดครูภูมิปัญญาเกษตร 200 คน และรายได้ทางเกษตร 1,800 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ชายแดนเหนือ จะร่วมพัฒนาโครงการกับท้องถิ่น 280 หมู่บ้าน

“ครูภูมิปัญญาทางการเกษตร เป็นสิ่งที่เราทำคือการสร้างคน ทั้งหมดที่แม่ฟ้าหลวง และปิดทองหลังพระฯ ทำมาตลอดคือสร้างคน และคนเหล่านี้ก็สร้างคนต่อๆ ไปเรื่อยๆ”

แผน 5 ปีนี้สอดคล้องกับการทำงาน 10 ปีที่ผ่านมาในการร่วมกันทำงานกับชุมชนและข้าราชการ สามารถพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างฝาย 6,259 แห่ง ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน ทำให้เกิดรายได้จากการเกษตรทั้งในพื้นที่ต้นแบบและขยายผล รวม 2,956 ล้านบาท ประชาชนเข้าร่วมพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ต้นแบบและขยายผลรวม 75,841 ครัวเรือน

และการร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพิ่มพื้นที่ป่า 2.09 แสนไร่ในจังหวัดน่าน เพิ่มพื้นที่ป่า 6 พันไร่ ในอุทัยธานี และยุติการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นอย่างสมบูรณ์ในเพชรบุรี ประชาชนในบางพื้นที่ผ่านจากความอยู่รอดและเริ่มเข้าสู่ระดับความพอเพียง มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ บริหารจัดการกันเอง รวมกัน 67 กลุ่ม มีเงินทุนรวม 12 ล้านบาท การรวมตัวบริหารทรัพยากรธรรมชาติ 55 กลุ่ม     การฝึกอบรมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ 11,347 คน เพื่อให้เกิดการนำเอาไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ

“ผลงานที่ทำมีความคลอบคลุมทั้งด้านรายได้ ตลอดจนกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนทั้งด้านการพัฒนาคน และด้านทรัพยากรธรรมชาติ” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

รับมือภัยแล้ง 2563

สำหรับการรับมือภัยแล้งปี 2563 มีการวางแผนสร้างพื้นที่นำร่องที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเครือข่ายการทำงานระหว่างจังหวัด หน่วยงาน และภาคเอกชน พัฒนาอาชีพเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้น้ำน้อย อยู่ระหว่างการประเมินผลเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ มีการดำเนินงานที่ครบทั้งวงจร คือ ชาวบ้านยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือ มีระบบสนับสนุนทรัพยากรและความรู้ และมีการตลาดรองรับสินค้า

ระบบสนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทรัพยากรมาจากปิดทองหลังพระฯ องค์ความรู้ไม่ใช่เฉพาะแต่ราชการแต่มีภาคเอกชนด้วย อาทิ ซีพี. เบทาโกรฯ เทสโก้ โลตัส การเกษตรที่นำโดยกระทรวงเกษตรฯ พัฒนาที่ดิน เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ รวมถึง กรมชลประทานให้ทุกหน่วยงานมาประชุมหารือต่อหน้าชาวบ้าน และให้ชาวบ้านเลือกว่าจะเอาแบบไหน วิธีการใด

“การเลือกจังหวัดอุดรธานี เพราะจากการทำงานร่วมกันมา 8 ปีทำให้รู้ว่าครอบครัวไหน ขยัน และซื่อสัตย์ 2 ปัจจัยนี้เป็นตัวหลัก ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ และขยันเราจะไม่มีทางสำเร็จ ที่เราเลือกคนเหล่านี้มาเพราะ เขาอยู่รอด อยู่พอเพียง ตอนนี้จะไปที่ความยั่งยืน เป็นตัวอย่างแรกของปิดทองฯที่เราจะทำให้เขายั่งยืนให้ได้ โดยยกระดับวิกฤติน้ำแล้งมาเป็นตัวตั้ง”

ผู้ที่เข้ามาร่วมงาน 19 ราย เป็นเจ้าของที่ดินติดแหล่งน้ำเปิดให้เพื่อนบ้านเข้ามาดำเนินงานได้โดยไม่คิดเงิน ปิดทองหลังพระฯ ช่วยลงทุนล่วงหน้าด้านโรงเรือนและระบบน้ำหยดแล้วเกษตรกรจ่ายคืนภายหลังแบบทยอยจ่ายโดยไม่คิดดอกเบี้ย จัดระบบการทำงานแบบทฤษฏีใหม่อย่างประณีตและ “แม่นยำ” วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมงต้องคอยตรวจเช็ค เป็นสิ่งสำคัญมากทำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้การทำเกษตรให้ได้มาตรฐานและความต้องการของตลาดที่ให้ราคาสูง

“ตลาดธรรมดาจะไม่ทำ จะทำตลาดที่สูงกว่า อย่างอาหารเพื่อสุขภาพ และทำเรื่องพรีเมี่ยม เกรดทุกอย่างที่ออกไปจากปิดทองหลังพระฯ ต้องพรีเมี่ยม เอกชน ร่วมวางแผนการผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จังหวัดประสานส่วนราชการอื่นๆ ให้ความสนับสนุน ตลอดจนเรียนรู้กระบวนการเพื่อนำไปขยายผล”

คาดว่าโครงการนี้จะคืนทุนได้ภายในประมาณ 3 ปี เมื่อถึงเวลาเกษตรกรจะเป็นเจ้าของโรงเรือนและระบบน้ำ มีความรู้ในการผลิตพืชผักที่มีมาตรฐานสูง และมีตลาดรองรับสินค้าอย่างสม่ำเสมอ “นั่นคือจะมีคุณภาพชีวิตที่ก้าวหน้าจากการทำนาแบบเดิม กลายเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการที่มีความรู้ ”

เจ้าหน้าที่ปิดทองหลังพระฯ อสพ. จากทุกพื้นที่ ก็เข้ามาร่วมเรียนรู้กระบวนการ และนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเองอีก 12 จังหวัด เพื่อช่วยนำประชาชนผ่านภัยแล้งที่รุนแรงนี้ พร้อมกับยกระดับความสามารถให้เขาเกิดความยั่งยืนในชีวิตต่อไป

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนคงกำลังหนักใจในเรื่องบรรยากาศของประเทศและของโลก เพราะกังเผชิญกับหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทั่วไป ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้นแต่เป็นของคนทั้งโลก จึงยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2532 เป็นสิ่งเตือนใจว่าเราทุกคนมีส่วนร่วมกันในการทำให้สังคมและประเทศดีขึ้นได้ แต่เราต้องอย่าท้อ ที่ทรงตรัสว่า “...บางเรื่องมันน่าท้อถอย..แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้าน คือเมือง..คือความสุขของคนไทยทั้งประเทศ”

10 ปีกับการขยายผล

10  ปีที่แล้ว ปิดทองหลังพระฯ เริ่มทำงานแห่งแรกในจังหวัดน่าน ต่อมาขยายงานไปสร้างต้นแบบในพื้นที่อื่น ๆ ประกอบด้วย อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4 จังหวัดชายแดนเหนือ รวม 8 พื้นที่ 13 จังหวัด การทำงานแต่ละพื้นที่จะมีโจทย์แตกต่างกันไปตามภูมิสังคม แบ่งได้ 3 กลุ่มหลักใหญ่ ๆ คือ

กลุ่มบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาอาชีพ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ มีแหล่งน้ำไม่ได้ใช้งานเต็มที่ จึงเข้าไปร่วมปรับปรุง ส่งเสริมอาชีพใหม่ ๆ มีครัวเรือนที่ทำงานร่วมกัน 1,758 ครอบครัวทำให้มีรายได้ทางเกษตรสะสม 493 ล้านบาท และพัฒนาเป็นกลุ่มผลิตสินค้า 16 กลุ่ม บูรณาการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เข้ามาช่วย 56 องค์กร

กลุ่มร่วมฟื้นฟูป่าและส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้แก่ประชาชนคือ น่าน อุทัยธานี และเพชรบุรี สามารถบรรลุทั้งเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง คือจังหวัดน่าน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเข้ามาร่วมปลูกป่าสามอย่าง รวมพื้นที่ 2 แสนไร่ จังหวัดอุทัยธานี สามารถคืนพื้นที่ป่าจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวได้ 6,000 ไร่และจังหวัดเพชรบุรีไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติมนับจากมีโครงการมี 2,234 ครอบครัวที่เข้ามาร่วมงาน สามารถสร้างรายได้สะสม 1,223 ล้านบาท โดยเราทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ 63 แห่ง  ยุติการบุกรุกป่า ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

กลุ่มที่เป็นประเด็นเฉพาะที่เป็นปัญหาแตกต่างกับที่อื่น ๆ มีความรุนแรง ถ้าปล่อยไว้ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนทั้งประเทศนั่นคือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 จังหวัดชายแดนเหนือ ทางใต้เราหวังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากความรุนแรงที่ยาวนาน และทางเหนือเราหวังจะสร้างอาชีพที่มั่นคงเพื่อลดปัญหายาเสพติด ทางใต้ เรามีประชากรร่วมงานด้วย 607 ครัวเรือน ทำรายได้สะสม 86 ล้านบาท ส่วนทางเหนือยังมุ่งเน้นการฝึกอบรม เพื่อกระตุ้นให้นำแนวพระราชดำริไปพัฒนาด้วยตนเอง ซึ่งตอนนี้อบรมไปแล้ว 119 ตำบล

การทำงานทุกกลุ่มเริ่มจากการศึกษาปัญหา ความต้องการของชาวบ้าน “ไม่ใช่เราคิดอะไรแล้วบังคับให้เขาทำ เราไปศึกษาปัญหาและความต้องการของชาวบ้านก่อน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน โดยการดึงเอาความร่วมมือจากชุมชน ข้าราชการและเอกชนมาร่วมบูรณาการกัน”

การขยายแนวพระราชดำริไปยังนอกพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งได้แก่จังหวัดน่านและอุดรธานี ปิดทองหลังพระ ฯร่วมกับกระทรวงมหาดไทยพัฒนาแหล่งน้ำทั่วทั้งสองจังหวัด ทำให้ 71,215 ครัวเรือนได้ทำเกษตรนอกฤดู สร้างรายได้จากการประกอบอาชีพ 1,144 ล้านบาท

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line