“ปราจีนบุรี” ชูเมืองรอง ท่องเที่ยวเชิงอาหารขับเคลื่อนโดยชุมชน รับภาวะ นิวนอร์มอล 

“ปราจีนบุรี” ชูเมืองรอง ท่องเที่ยวเชิงอาหารขับเคลื่อนโดยชุมชน รับภาวะ นิวนอร์มอล 

วิกฤตการณ์โควิด 19 มีผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจโดยภาพรวม มีการคาดการณ์กันว่าแม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ผลพวงจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนจะไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ผูกติดอยู่กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมักจะโปรโมทเมืองหลัก รายได้จากการท่องเที่ยวจะกระจุกตัว ไม่กระจายออกสู่ชุมชน 


จ.ปราจีนบุรี มีคำขวัญว่า “เขตเมืองเก่า เล่าประวัติศาสตร์ ธรรมชาติงดงาม บริบูรณ์ผลไม้ หลากหลายแหล่งท่องเที่ยว เชี่ยวชาญสมุนไพร” และมีแกนนำหลักที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านสมุนไพร และยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเกษตรอินทรีย์ ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย ผลิตพืชผักสมุนไพรส่งตรงให้โรงพยาบาลเพื่อแปรรูปเป็นอาหารและยา จนมีชื่อเสียงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเมืองรองอย่าง จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารสุขภาพ หลังวิกฤตโควิด พ้นผ่าน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สถาบันอาหาร ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากลปี 2563 ในหัวข้อ “เปิดหัว เปิดตัว เปิดใจ ไปกับ Gastronomy Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยชุมชน ซึ่งได้จัดขึ้นในวันที่ 25-27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ศักดิ์สุภารีสอร์ท อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการจัดอบรมขึ้นเป็นครั้งที่สอง หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อคจากสถานการโควิด โดยการอบรมได้ดำเนินไปตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด 

สำหรับผู้เข้าร่วมอบรม เป็นวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่ม Gastronomy Industry กลุ่ม Healthcare service โดยการอบรมเน้นไปถึงการใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในท้องถิ่น พัฒนาทักษะบุคลากร ด้านมาตรฐานบริการและสินค้า พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดกับสินค้าและบริการ สร้างอัตตลักษณ์ของสินค้าให้เกิดโอกาสในทางการตลาด ตลอดจนยกระดับองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับสินค้าและบริการอย่างสร้างสรรค์ โดยตลอดการอบรมทั้งสามวัน ผู้เข้าอบรมได้มีการแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนสถานการณ์โควิด 19 ที่เป็นอุปสรรคและโอกาสของการยกระดับเมืองรองอย่างปราจีนบุรีให้ศักยภาพและถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะดึงนักท่องเที่ยวในประเทศให้มาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น 

อาจารย์อักขราทร ศิลปี (เชฟป๊อบ) ที่ปรึกษาด้านอาหารโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และคุณปนัดดา จรัสรัตนโชติแพทย์แผนไทยประยุกต์ สองวิทยากรหลัก ที่มาแบ่งปันใน หัวข้อ การสร้างเครือข่ายตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารโดยชุมชน Gastronomy Tourism พร้อมทั้งหยิบยกเมนูอาหารเพื่อสร้างความต่างโดยอาศัยจุดแข็งการเป็นเมืองสมุนไพรนำมาปรับใช้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดปราจีนได้ด้วยเมนูเด็ด เช่น แสร้งว่าไตปลา ให้ความรู้สึกเหมือนว่าได้กินอาหารของทางใต้ แต่ใช้เครื่องปรุงแสร้งว่าเป็นไตปลา โดยปรุงจากเนื้องกุ้งและมันกุ้งสด ผสมเครื่องสมุนไพรซอย กินกับผักสด ๆ ในท้องถิ่นที่หลากหลาย , ยำทวาย เป็นเมนูอาหารสูตรที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและเพียรพยายามที่จะหาสิ่งต่าง ๆ นอกฤดูกาล ซึ่งปราจีนบุรีมีพืขผักมากมายที่จะมาทำเมนูนี้ได้

 

นอกจากนี้ สองวิทยากร จากโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร ยังได้เพิ่มจุดแข็งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยการ บริการตรวจธาตุเจ้าเรือน เพื่อให้คำแนะนำว่า คนธาตุไหนต้องรับประทานอาหารชนิดใดจึงจะตรงธาตุ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย โดยธาตุทั้ง 4 ซึ่งเป็นธาตุเจ้าเรือน ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ และจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากตารางธาตุที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ 
ขณะเดียวกัน ก็ได้แนะนำ และสาธิตการนำสมุนไพรในชุมชนมาแปรรูปให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่นการทำ ชาสมุนไพร เช่น ชาตระไคร้ ลูกประคบสมุนไพร เครื่องดื่มจากสมุนไพร เช่น น้ำมังคุดโซดา น้ำอัญชัญลิ้นจี่โซดา  โดยเลือกสมุนไพรจากเกษตรอินทรีย์ ที่ถือเป็นจุดแข็งของจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย โดยข้อมูลที่สองวิทยากรนำมาแนะนำนั้น อภัยภูเบศรเดย์สปา ได้นำมาให้บริการและได้รับการยอมรับอย่างสูงจากนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาใช้บริการ 
สำหรับการอบรมในลักษณะนี้จะมีขึ้นอีกครั้งระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนาย 2563 ที่เรือนร่มไม้ จ.ปราจีนบุรี

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line