แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เผยผลวิจัยอาชีพไหนเนื้อหอม-มาแรง ในยุคบิสซิเนสดิสรัปชั่น (Business Disruption)

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เผยผลวิจัยอาชีพไหนเนื้อหอม-มาแรง ในยุคบิสซิเนสดิสรัปชั่น (Business Disruption)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้ภาคธุรกิจและกลุ่มแรงงานมีการปรับตัว เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ และยังทำให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ จากวิถีความปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal  ล่าสุด “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,246 คน จากแรงงานในหลายอาชีพว่ามีกลุ่มอาชีพในสายงานใดที่คนทำงานต้องการทำท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของแรงงานในยุคที่เรียกได้ว่า “การหยุดชะงักทางธุรกิจ” หรือ “Business Disruption”   


แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ได้จัดอันดับกลุ่มอาชีพจากผลการสำรวจ ไว้ดังนี้ สำหรับกลุ่มอาชีพและสายงานที่ขึ้นมาเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มอาชีพอิสระต่าง ๆ คิดเป็น 12.76 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งในกลุ่มนี้ประกอบด้วยคนทำงานประจำที่ต้องการทำงานเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมจากช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมาหลายองค์กรปรับรูปแบบการทำงาน Work from Home ทำให้มีการจัดสรรเวลาโดยการทำงานที่เป็นอาชีพอิสระที่นำทักษะความรู้มาต่อยอดเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ควบคู่กัน   และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องการทำงานอิสระจากงานระยะสั้นประเภทต่างๆ อาจะเป็นงานเดียวหรือหลายงานในเวลาเดียวกันเพื่อสร้างรายได้

ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอาชีพด้านโลจิสติกส์, ซัพพลายเชนส์ และการขนส่งเดลิเวอรี่ คิดเป็น 10.32 เปอร์เซ็นต์ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มดังกล่าวมีการเติบโตอย่างมาก  โดยเฉพาะการรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ  ซึ่งเป็นผลพวงจากการล็อคดาวน์ที่มีควบคุมการเข้าและเปิดปิดร้านค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าในหลายพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

อันดับที่สามกลุ่มอาชีพงานที่ใช้ภาษาต่างประเทศ คิดเป็น 10.29 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะภาษาที่ 2 และ 3 อาทิ กลุ่มภาษาอังกฤษ  ภาษาจีน  ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น นับเป็นโอกาสกับอาชีพนี้ที่จะนำความรู้มาใช้ในการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ  ซึ่งนอกจากจะทำงานประจำแล้วยังสามารถต่อยอดรายได้เสริมได้อีกด้วย

อันดับที่สี่  คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับอานิสงค์จากสถานการณ์นี้  นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่หลากหลายให้สามารถเลือกซื้อสินค้าไม่ว่าจะโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค (Facebook)  อินสตาแกรม (IG) และไลน์ (LINE)  รวมทั้งแอปพลิเคชันในกลุ่ม E-Market Place ต่างๆ ถือว่าเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องไปถึงร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งคิดเป็น  9.61 เปอร์เซ็นต์

อันดับที่ห้า กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์คนอยู่บ้าน คิดเป็น 8.82 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะกลุ่มงานบริการที่บ้าน (Service at home)  เนื่องจากในช่วงที่คนทำงานอยู่ที่บ้าน  นอกจากทำงานแล้วทำให้มีความต้องการบริการต่างๆที่บ้านเพิ่มมากขึ้น อาทิ งานซ่อมแซมบ้าน งานบริการตัดผม งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการออกกำลังกาย สัตว์เลี้ยง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ตามมาด้วยอันดับที่หก  กลุ่มงานในการให้บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ คิดเป็น 7.35 เปอร์เซ็นต์ โดยรูปแบบการทำงานมีทั้งทางโทรศัพท์ และการตอบทางช่องทางแชท ทำให้การให้บริการและตอบคำถามลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ใช้งานมากสุดในช่วงนี้ก็คือ ช่องทางร้านค้าออนไลน์

กลุ่มอาชีพอันดับที่เจ็ด  เป็นงานกลุ่มสุขภาพและยา คิดเป็น 5.88 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มงานทางการแพทย์  หมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด  และงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ ที่สอดรับกับทิศทางของสังคมสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันด้วย

สำหรับอันดับที่แปด  กลุ่มอาชีพงานสอนในรูปแบบอี-เลิร์นนิ่ง  (E-Learning) คิดเป็น 5.63 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ทำให้สะดวกและสามารถสริมทักษะความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์ไอทีและแพลตฟอร์มต่างๆ ได้หลากหลายอีกด้วย

ส่วนอันดับที่เก้า  เป็นงานด้านไอที (Information Technology)  คิดเป็น 4.41 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้มีความต้องการสูง เนื่องจากต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง  กลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น งานทางด้านดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์  กลุ่มงานทางด้านเน็ตเวิร์คและงานไอทีซัพพอร์ต  ปิดท้ายด้วยกลุ่มงานด้านการตลาดทั้งออนไลน์ออฟไลน์ คิดเป็น 4.39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นส่วนงานที่ต้องใช้ทักษะและการสื่อสารทางการตลาด  โดยเฉพาะการสื่อสารในช่วงการแพร่ระบาดที่ต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการต่างๆ

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยและผลสำรวจดังกล่าว  สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มอาชีพที่สามารถพัฒนาและต่อยอด  โดยการดึงศักยภาพ เสริมทักษะและมาใช้ในการต่อยอดได้อย่างดีเยี่ยม  ถึงแม้ว่ากระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและวิกฤตไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้ภาพรวมตลาดแรงงานต้องปรับตัว  แต่เชื่อมั่นว่าในวิกฤตครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับแรงงานได้เห็นถึงทิศทาง  การปรับตัวและการรับมืออย่างมีสติเพื่อผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ต่อไป

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line