Around Town

กวาง กมลชนก ร่วมแสดงความยินดีงานชมนาดครั้งที่10

1 Mins read

จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 10 แล้ว สำหรับโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (FICTION) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2

งานประกาศรางวัลชมนาด ครั้งที่ 10 ได้รับเกียรติจาก คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ,คุณปรียนาถ สุนทรวาทะ ที่ปรึกษาและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด  (มหาชน)  , ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),  คุณนิรมาณ ไหลสาธิต รองผู้จัดการใหญ่ ผู้รับผิดชอบสายลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) , คุณอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด, คุณกมลชนก เขมะโยธิน  นักแสดง ฯลฯ ร่วมแสดงความยินดี  ชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม 

โดย รางวัลชนะเลิศชนะเลิศ ได้แก่ คุณชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง  ผลงานนวนิยายเรื่อง หลง เงา รักได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท โล่เกียรติคุณ และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษโดยมี,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณกชกร ชิณะวงศ์ ผลงานนวนิยายเรื่อง ปล่อย ได้รับโล่ผู้เข้ารอบ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท  และ รางวัลรองชนะเลิศอับดับ 2 ได้แก่ คุณนภัทร สังสนา   ผลงานนวนิยายเรื่อง รอยเท้าบนกลีบดอกไม้ ได้รับโล่ผู้เข้ารอบ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

กวาง กมลชนก ร่วมงาน

โดยในปีนี้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายวรรณกรรม คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือกต้นฉบับรางวัลชมนาด ประเภทนวนิยาย พร้อมด้วยคณะกรรมการ ได้แก่ ดร.พรธาดา สุวัธนวนิช, คุณตรีคิด อินทขันตี, คุณอุมาพร ภูชฎาภิรมย์ , คุณจิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ คัดเลือกผลงานต้นฉบับ ผ่านเข้ารอบตัดสิน จำนวน 8 เรื่อง จากผลงานทั้งหมด 26 เรื่อง เพื่อเข้าชิงรางวัลชมนาดครั้งที่ 10 ได้แก่ กาลครั้งหนึ่งที่โคชนะหลงเงารักปริศนาบรรณกรโศกนาฎกรรมนอกเล่ม…นิยายดานิกามาลีรินทร์ผงปรุงรส…ชีวิตปล่อย และ รอยเท้าบนกลีบดอกไม้

ด้าน คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานกรรมการรอบคัดเลือก กล่าวถึงภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดในปีนี้ว่า นวนิยายส่วนใหญ่จะเป็นแนวดิสโทเปีย มีความสับสนวุ่นวายในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงโรคระบาด บางเรื่องมีพล็อตแยกแตกลูก

“ความโดดเด่นของปีนี้คือชีวิตตัวละคร ที่เขียนได้อย่างมีสีสันน่าติดตาม บางเรื่องเป็นโลกของจินตนาการที่เป็นดิสโทเปีย ที่เราไม่สามารถคาดหวังว่าจะเป็นไปได้ หรือไม่ผู้อ่านต้องหาคำตอบเอง บางเรื่องเป็นวรรณกรรมเยาวชน กล่าวถึงเด็กที่มาจากดาวอังคาร แต่แม้จะมาจากอีกโลก เราก็มองเห็นมิตรภาพ ความรักในครอบครัว บางเรื่องเป็นเรื่องของท้องถิ่น เรื่องที่ต้องต่อสู้กับจิตใจภายในของมนุษย์ เรื่องที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โรคระบาด รวมทั้งแนวสืบสวนก็มี”

คุณนรีภพ บอกต่อว่า ในปีนี้มีเรื่องแนวดาร์ก ๆ ด้วย อ่านแล้วสะเทือนใจ ความเป็นนวนิยายทำได้ดี นักเขียนมีชั้นเชิง และกลวิธีในการนำเสนอ อย่างเรื่อง ดานิกามาลีรินทร์” แก่นเรื่องนำเสนอพฤติกรรมของ 2 ตัวละครเป็นการสลับร่างกัน นำพาไปสู่การเห็นจิตใจของมนุษย์

“การนำเสนอมีการซ่อนปมซ่อนเรื่อง การจบของนวนิยายแบบขนบอาจจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่นี่ไม่ใช่ ผู้เขียนให้คนอ่านไปขบคิดต่อ และตัวละครฉูดฉาดมีสีสันมาก เน้นความบรรเจิด มีจินตนาการกับตัวละครมากขึ้น การพรรณาโวหารน้อยลง ใช้ตัวละครเป็นตัวดำเนินเรื่อง มีความกระชับ และความทันสมัยของเรื่องมีมากขึ้น นิยายรักที่โป๊เปลือยก็มี แนววายก็มี มีความทับซ้อนมากขึ้น น่าติดตามมากขึ้น”

สอดคล้องกับ รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร  คณะกรรมการรอบตัดสิน ที่ได้ให้ข้อสังเกตว่า ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ เป็นงานแนวดิสโทเปียเป็นจำนวนมาก วิพากษ์ปัญหาสังคมในปัจจุบัน ที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าเราไม่แก้ไขจะนำไปสู่อนาคตที่เราไม่อยากให้เป็น

ขณะเดียวกันเนื้อหาก็มีบริบทที่หลากหลาย เช่น การถ่ายทอดความผูกพันกับชีวิตชนบท และมีแนวเรื่องที่หลากหลายกว่าเดิม มีเรื่องที่ใช้ข้อมูลทางสารคดี การป้องกันอุบัติเหตุ มานำเสนอด้วยวิธีการแบบนวนิยาย ทำให้อ่านสนุก เข้าใจสังคมและวิธีการแก้ปัญหา

“ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ บริบทร่วมสมัย และเป็นสังคมที่ไม่เหมือนเดิม เช่น วิถีชีวิตของผู้หญิงที่อาจจะไม่ได้เป็นผู้หญิงในอุดมคติ ไม่ได้เป็นกุลสตรีที่อยู่ในขนบ เพราะปัญหาครอบครัว มีชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้ใช้ชีวิตที่มีเสรีภาพทางเพศ แต่ภาพเหล่านี้นำเสนอโดยใช้ฉากต่างประเทศ ใช้สำนวนคล้ายแปลมา แต่ในที่สุดสะท้อนให้เห็นว่า คนเหล่านี้ก็อยากจะมีชีวิตที่อบอุ่น สร้างครอบครัวที่ประกอบไปด้วยความรักด้วยเช่นกัน”  

รางชนะเลิศ

           สำหรับผลงานชนะเลิศ “รางวัลชมนาด” ในปีนี้ ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “หลง เงา รัก” ซึ่งคณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์  โดยมี อาจารย์เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์  ประธานกรรมการรอบตัดสิน  คุณสกุล บุญยทัต รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์  และคุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์

โดยอาจารย์สกุล บุณยทัต หนึ่งในคณะกรรมการรอบตัดสิน ได้ให้ทัศนะในเชิงนักวิจารณ์ว่า เป็นงานที่เกลี้ยงที่สุด ถือว่าคนเขียนมีองค์ความรู้ในบริบทต่าง ๆ ดี แม้จะเป็นเรื่องที่เปิดเปลือย โดยผู้เขียนเลือกใช้ฉากในต่างประเทศ แต่ก็มีแก่นความคิดของตัวละคร ที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด่นที่สุด

ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรื่อง “ปล่อย”  ซึ่งอาจารย์สกุล มองว่า เป็นเรื่องที่มีอุดมคติของผู้หญิง ในภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รัก และในที่สุดก็เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้เป็นอุดมการณ์    

ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “รอยเท้าบนกลีบดอกไม้” เป็นเรื่องของผู้หญิงที่ผิดหวังจากความรัก ที่รักฝ่ายชายมากเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็ถูกทิ้ง ทำให้เกิดบาดแผลในการสร้างชีวิตครอบครัว และต้องพบกับความผิดหวังจากความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

บรรยากาศ 4

ทั้งนี้ อาจารย์สกุล สรุปว่า โดยรวมนวนิยายทั้งสามเรื่อง สื่อความหมายได้ดี  แม้จะเห็นว่าบางเรื่องมีเนื้อหาที่เปรี้ยวจี๊ด และมีฉากอีโรติก แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียด ทว่า กลับเป็นท่วงทำนองที่สอดคล้องกับสภาวะเหตุการณ์อย่างสมเหตุสมผล ที่สำคัญคือกรรมการจำเป็นต้องเปิดกว้าง เพราะงานวรรณกรรมเป็นงานเสรี และเป็นการทดลองความจริง