Around Town

อาการปวดหลังเกิดจากสาเหตุใดบ้าง มีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร

1 Mins read

cover ปวดหลัง
Young working female feeling back pain after work hard at the office

‘ปวดหลัง’ เป็นหนึ่งในอาการที่สร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย และไม่ได้มีเพียงเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้นที่พบเจออาการนี้ เพราะปัจจุบันอาการปวดหลังสามารถพบได้ตั้งแต่คนอายุยังน้อย โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่จำเป็นต้องนั่งนาน ๆ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้ ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดหลัง สาเหตุ ความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ รวมถึงแนวทางการรักษาป้องกัน เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สาเหตุของอาการปวดหลัง มีอะไรบ้าง

  1. ความเสื่อม

พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นความเสื่อมตามวัย เนื่องจากหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเสื่อมและทรุดตัวลง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้ หรือในบางรายกระดูกสันหลังทรุดไปกดทับเส้นประสาทร่วมด้วยทำให้เกิดอาการปวดหลังรุนแรง

2 .อุบัติเหตุ

ถือเป็นอาการปวดหลังที่เกิดแบบฉุกเฉิน เช่นจากการพลัด ตก หกล้ม เกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ ทำให้เกิดอาการปวดหลังทันที โดยส่วนใหญ่ที่พบ คือกระดูกหัก กระดูกเคลื่อน หรือเคลื่อนทับเส้นประสาท

3. เนื้องอกในกระดูกสันหลัง / โรคมะเร็งกระดูก

ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ มักมีอาการปวดรุนแรง เนื่องจาก โครงสร้างกระดูกเริ่มสูญเสียความแข็งแรง

4. ภาวะติดเชื้อ

เป็นอาการปวดของกระดูกสันหลังเนื่องจากการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังพร้อมกับมีไข้ร่วมด้วย

5. ใช้งานมากเกินไปหรือผิดท่า

พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน ในกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการนั่งนาน ๆ รวมถึงท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัยอันควร 

อาการปวดหลังแบบไหนควรรีบพบแพทย์

  • ปวดหลังร่วมกับมีไข้
  • ปวดหลังร่วมกับมีอาการน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • ปวดหลังรวมกับอาการเบื่ออาหาร
  • ปวดหลังร้าวลงขา ขาอ่อนแรง
  • อาการปวดหลังส่งผลต่อการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะไม่ออก กลั้นอุจจาระไม่ได้
  • มีอาการปวดหลังเรื้อรังเกิน 3 เดือนขึ้นไป
  • ปวดหลังจากอุบัติเหตุ

แนวทางการรักษา-ป้องกัน อาการปวดหลัง

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง พักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นเบื้องต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่จริง โดยการตรวจเบื้องต้นจะประกอบไปด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ หรือในบางกรณีอาจทำ MRI ร่วมด้วย ในส่วนของแนวทางการรักษาในปัจจุบันมี 4 แนวทางหลักดังนี้

  1. รักษาด้วยการใช้ยา เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดการอักเสบ ขึ้นอยู่กับอาการและดุลพินิจของแพทย์
  2. รักษาโดยไม่ใช้ยา ปัจจุบันมีหลายวิธีเช่น การทำกายภาพบำบัดบัด การฝังเข็ม การใช้เลเซอร์  การคลายกล้ามเนื้อด้วย การนวด อัลตราซาวด์ รวมไปถึงการทำช็อกเวฟ เพื่อ ลดอาการปวดลง
  3. รักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ทั้ง 2 วิธีที่กล่าวมาไม่เห็นผล กระดูกสันหลังเสื่อมมาก ๆ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูก หรือรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ในกรณีที่เกิดการทับของเส้นประสาท ก็สามารถรักษาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจาก 3 ข้อ ที่กล่าวมานั้น สิ่งที่ควรทำมากที่สุดทั้งก่อนและหลังการเข้ารับการรักษา คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ท่านั่ง ท่านอน ลดการยกของหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยลดอาการปวด และลดความเสี่ยงการเกิดโรครุนแรงในอนาคตได้ด้วย

ใครที่กำลังเผชิญกับอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอาการปวดหลังร้าวลงขา ชา อ่อนแรง ลักษณะนี้มีโอกาสเสี่ยงกับโรคกระดูกสันหลัง ให้รีบเข้ารับการรักษาก่อนอาการรุนแรง ปัจจุบันมีการรักษาที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว