Around Town

สสว. ดันสินค้าเชิงวัฒนธรรม นำร่องปลากัดส่งออก 20 ล้านตัวต่อปี

1 Mins read

สสว. ดันเอสเอ็มอี ส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม นำร่องสินค้าปลากัด มียอดส่งออกกว่า 20 ล้านตัวต่อปี มีมูลค่า 213 ล้านบาท โดยตลาดหลักคือประเทศจีน นำเข้าปลากัดไทยกว่า 5 ล้านตัวต่อปี โดยนิยมเลี้ยงในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เพราะใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย เหมาะกับคอนโดมิเนีบม มีราคาตั้งแต่ 30 – 500 บาทต่อตัว

Photo 2 1

        นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)    เปิดเผยว่า ในทุกวันนี้สินค้าเชิงวัฒนธรรมของไทย ถือเป็นภูมิปัญญาตั้งแต่ในอดีต มีจุดขายที่น่าสนใจอยู่แล้ว แต่ตลาดยังไม่กว้างมาก มีกระบวนการผลิตที่จำกัด สสว. จึงเห็นถึงจุดที่ต้องเสริมนี้ ทำให้นำไปสู่การพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย ให้สามารถยกระดับ สร้างมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่าสินค้าขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด สสว. Connext “เชื่อมคน เชื่อมเอสเอ็มอี เชื่อมโลก” ได้ต่อไป

โดยที่ผ่านมา สสว. ได้นำร่องส่งเสริมสินค้าเชิงวัฒนธรรม ในกลุ่ม “ปลากัด” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำประจำชาติของไทย มีสีสันสวยงาม เปรียบเป็นทูตทางวัฒนธรรม ที่ประกาศให้โลกรู้ว่า ไทยมีอัญมณีใต้น้ำที่งดงาม และเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของกลุ่มสินค้าปลาสวยงามไทย โดยปี 2562 โดยไทยได้ส่งออกปลากัดกว่า 20 ล้านตัว มีมูลค่ากว่า 213 ล้านบาท คาดว่า หากมีการส่งเสริมพัฒนาอย่างจริงจัง มูลค่าตลาดปลากัดของไทยจะสูงถึง 1,000 ล้านบาท

สำหรับประเทศนำเข้าที่สำคัญ คือ ตลาดจีน โดยไทยส่งออกปลากัดไปประเทศจีนกว่า 5 ล้านตัวต่อปี คนจีนนิยมปลากัดสีธงชาติไทย สีขาว สีแดง สีผสมหลากหลายแบบงิ้ว สีสดใสสวยๆ และสีทองที่เป็นสีฮ่องเต้ รวมทั้งปลายังถือเป็นสัตว์เลี้ยงมงคลของจีน โดยปลากัดนิยมเลี้ยงในเมืองขนาดใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เพราะพื้นที่น้อย เหมาะเลี้ยงปลาเล็ก ๆ เลี้ยงง่าย และยังมีควมเชื่อในเรื่องเสริมฮวงจุ้ยเงินทองไหลมาเทมา

[catlist id=59 numberposts=5 excludeposts=this]

ส่วนช่องทางขายที่สำคัญของปลากัดไทยไปจีนจะผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มเถาเป่า ของอาลีบาบา  เจดีดอทคอม ซึ่งคนจีนจะซื้อของผ่านออนไลน์ประมาณ 50% ของการซื้อทั้งหมด โดยผู้ประกอบการไทยสามารถจัดส่งปลากัดผ่านบริการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ปลากัดของไทยมีราคาถูกสุดตัวละ 5.9 หยวน หรือ 30 กว่าบาท หรือหากสวยๆ เกรดพิเศษก็มีราคากว่า 100 หยวน หรือกว่า 500 บาท ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเกรดและพันธุ์ของปลากัด ซึ่งตลาดจีนนิยมเลี้ยงปลากัดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็มียอดจำหน่ายนับพันตัวต่อเดือน

Photo 3

นอกจากนี้ สสว. ยังสร้างองค์ความรู้ และสนับสนุนการสร้างมาตรฐานในการเพาะเลี้ยงปลากัดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การดูแลรักษา วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน การขนส่ง การขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมปลากัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการส่งเสริมกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการหรือคลัสเตอร์ปลากัดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีอัตลักษณ์ของปลากัดที่โดดเด่นแตกต่างกันไป

“นอกจากนี้ สสว. ได้สร้างกลไกในการเข้าไปเสริมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่ทั้งรายย่อยและรายเล็กที่เพาะเลี้ยงปลากัด ให้มีความเข้าใจ เรียนรู้ได้เร็วในระยะเวลาอันสั้น คือ หากเริ่มเพาะเลี้ยงปลากัด ภายใน 3 เดือนก็เริ่มขายได้แล้ว โดยผู้ประกอบการบางรายสามารถสร้างรายได้ประมาณเดือนละ 20,000 -30,000 บาท รวมทั้งยังมีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ให้มีความแตกฉาน มีเวทีประกวดเปรียบเป็นใบการันตี ถ้าเพาะเลี้ยงดีๆ สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึงตัวละ 400 -500 บาท ซึ่งธุรกิจปลากัดนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรมเท่านั้น ต่อไปสสว.ตั้งเป้าจะขยายไปสู่สินค้าอีกหลายประเภท เช่น ข้าว มวยไทย เพิ่มมากขึ้น” วีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย