Around Town

กรมวิชาการเกษตร เตือนภัยเกษตรกร ฝนหนักเตรียมรับมือโรคเน่าเปียกพริก

1 Mins read

ช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคเน่าเปียก สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก มักพบที่ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนแสดงอาการมีแผลช้ำฉ่ำน้ำ และแผลจะขยายลุกลามลงมาตามกิ่งอย่างรวดเร็ว ทำให้กิ่งแห้งหักพับ หากต้นพริกแสดงอาการรุนแรง ใบและดอกพริกจะร่วงจนเหลือแต่ก้าน โดยต้นพริกจะไม่มีการแตกยอดใหม่ ส่วนที่ผลอ่อนพริกจะเกิดอาการช้ำฉ่ำน้ำ เน่า และหลุดร่วงได้ง่าย กรณีที่ในอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นก้านใสของเชื้อราชูสปอร์ใสคล้ายขนแมวขึ้นมาจากส่วนของพืชที่เป็นโรค ส่วนปลายของก้านใสที่เป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราจะเห็นกลุ่มสปอร์เป็นตุ่มสีดำ สปอร์เชื้อราสาเหตุโรคสามารถปลิวแพร่ระบาดไปสู่พริกต้นอื่นได้โดยง่าย เนื่องจากอาศัยติดไปกับสิ่งที่เข้าไปสัมผัส อาทิ น้ำ ลม ฝน น้ำค้าง และแมลง ทำให้เกิดการระบาดรุนแรงมากยิ่งขึ้น

[catlist id=59 numberposts=5 excludeposts=this]

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพริกอย่างสม่ำเสมอ และควรปรับระยะปลูกพริกไม่ให้แน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก และมีอากาศถ่ายเทสะดวก หากเริ่มพบต้นพริกแสดงอาการยอดช้ำหรือสังเกตเห็นยอดพริกมีเชื้อราเกิดขึ้น ให้เกษตรกรรีบตัดส่วนที่เป็นโรคใส่ถุงตั้งแต่ในแปลงปลูก หรือหากพบต้นที่แสดงอาการของโรครุนแรง ให้รีบถอนต้นพริกและเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสปอร์เชื้อราสาเหตุโรค จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดโคลแรน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรโฟรีน 19% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5 วัน กรณีพบการระบาดของโรค ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย