Around Town

นักวิจัยไบโอเทค สวทช. พัฒนาออร์แกนอยด์ หรือ อวัยวะจำลองมดลูกและรก เพื่อศึกษาวิธียับยั้งการแพร่เชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูก

1 Mins read

·       เชื้อไวรัสซิกา เกิดจากยุงลายเป็นพาหะสำคัญเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ซึ่งยังไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกันการติดเชื้อได้ มักพบในประเทศเขตร้อน

·       ข้อดีของออร์แกนอยด์ หรือ การสร้างอวัยวะจำลองมดลูกและรก คือนักวิจัยสามารถทำการทดลองเพื่อศึกษาการติดเชื้อของโรค และทดสอบการใช้ยาในการรักษา โดยที่ไม่ต้องทดสอบกับอาสาสมัครหรือคนไข้จริง

·         โครงการนี้เป็น 1 ใน 5 โครงการ  TDR Global Crowdfunding Challenge Contest ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดตั้งเพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อในเขตร้อน พร้อมเปิดระดมทุนเพื่อดำเนินงานวิจัย (Crowdfunding for Science) ตั้งเป้า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 260,000 บาท)

ในช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ รกเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างทารกและแม่ มีหน้าที่ในการควบคุมการแลกเปลี่ยนสารต่าง ๆ ระหว่างแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งรวมไปถึงสารอาหาร แก๊ส ของเสีย และยาต่าง ๆ ที่แม่รับประทาน  เข้าไป นอกจากนี้รกยังเป็นตัวเชื่อมการถ่ายทอดเชื้อโรคต่างๆ จากแม่สู่ทารกอีกด้วย ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวมารดาเองระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงของทารกที่จะเสียชีวิตในครรภ์ หรือมีภาวะผิดปกติทางพัฒนาการและการเจริญเติบโตเมื่อแรกเกิด หรือเสียชีวิตขณะแรกเกิดได้ ถึงแม้ว่าการถ่ายทอดเชื้อโรคจากแม่สู่ทารกในครรภ์ส่งผลร้ายแรงให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีระบบทดลองที่สมบูรณ์ในห้องปฏิบัติการที่จะสามารถนำมาศึกษากระบวนการติดเชื้อและการแพร่เชื้อต่าง ๆ จากแม่สู่ทารกได้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงออร์แกนอยด์ (Organoid) มาสร้างและพัฒนาแบบจำลองอวัยวะสามมิติของมดลูกและรก หวังใช้ศึกษากลไกการติดเชื้อไวรัสซิกาในมดลูก การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดจนการทดสอบและพัฒนาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสซิกา เพื่อการนำมาใช้ต้านทานเชื้อไวรัสซิกา และป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้จากแม่สู่ทารกในครรภ์

ดร ธีรวัฒน์

[catlist id=30 numberposts=5 excludeposts=this]

ดร.ธีรวัฒน์ วิวัฒน์พาณิชย์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ไวรัสซิกา (Zika virus)  อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เหมือนกับโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ในแถบพื้นที่ทะเลคาริบเบียนตอนกลางและใต้ของอเมริกา แอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย การติดเชื้อไวรัสซิกาในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะไม่มีอาการรุนแรง หรือไม่เกิดอาการเลย แต่ปัจจุบันได้มีผลการศึกษายืนยันแล้วว่า เมื่อผู้หญิงมีครรภ์ได้ติดเชื้อไวรัสซิกา เชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ซึ่งมีผลให้ทารกมีอาการสมองเล็ก สมองไม่พัฒนา และรวมไปถึงการเสียชีวิตทันทีหลังกำเนิด การติดเชื้อไวรัสซิกาในทารกส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย และประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถจะยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้

ดร.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการสร้างออร์แกนอยด์ ซึ่งก็เป็นกลุ่มก้อนเซลล์ที่ได้เพาะเลี้ยงแบบสามมิติจนมีลักษณะและคุณสมบัติเสมือนหรือคล้ายกับอวัยวะจริงในร่างกาย โดยนักวิจัยสามารถนำออร์แกนอยด์หรือระบบอวัยวะจำลอง มาศึกษากระบวนการทางชีวภาพต่างๆ ตั้งแต่พฤติกรรมของเซลล์ การทำงานของระบบอวัยวะของร่างกาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบอวัยวะในร่างกาย การตอบสนองต่อฮอร์โมนหรือยา ตลอดจนกระบวนการก่อโรคจากเชื้อต่าง ๆ และโรคทางพันธุกรรมได้ ข้อดีของออร์แกนอยด์คือนักวิจัยสามารถทำการทดลองเพื่อศึกษาโรค และทดสอบยาในภาวะที่คล้ายคลึงกับร่างกายโดยที่ยังไม่ต้องทดสอบกับอาสาสมัครหรือคนไข้จริง

ดร ธีรวัฒน์2

ถึงแม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยจะไม่รุนแรงมากนัก  แต่เนื่องจากไวรัสซิกามีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสเด็งกี่ ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกซึ่งมีการระบาดในประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง  อีกทั้งเชื้อไวรัสสองชนิดนี้ยังมียุงลายเป็นพาหะเหมือนกัน ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะประสบปัญหาการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสซิกาในอนาคต ทีมวิจัยไบโอเทคและภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมกับการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในอนาคต โดยเฉพาะการแพร่ของเชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ทารกในครรภ์ โดยทางทีมวิจัยจะพัฒนาออร์แกนอยด์ของมดลูกและรก เพื่อใช้ทดสอบและพัฒนาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสซิกา เพื่อการนำมาใช้ต้านทานเชื้อไวรัสซิกา และป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้จากแม่สู่ทารกในครรภ์ต่อไป

ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 โครงการ จาก 121 ผู้สมัครจาก 37 ประเทศ ที่ชนะ TDR Global Crowdfunding Challenge Contest ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดตั้งเพื่อให้การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อในเขตร้อน โดยทางองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรอง 5 โครงการที่ได้รับคัดเลือกเพื่อจัดตั้ง Crowdfunding for Science หรือการระดมทุนเพื่องานวิจัย ซึ่งทางทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายงบประมาณในการดำเนินงานวิจัยเบื้องต้นไว้ที่ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 260,000 บาท โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการสามารถร่วมบริจาคเงินให้กับโครงการได้ที่http://www.experiment.com/noZika4Babyตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม จนถึง 30 พฤศจิกายน 2563 ดร.ธีรวัฒน์ กล่าวสรุป