Around Town

โปรแกรม อว.สวทช. อว. หนุนผู้ประกอบการ สร้างรถเคลื่อนที่อัตโนมัติประเภทนำทางด้วยเส้น ขนส่งของอัตโนมัติให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลชลบุรี

1 Mins read


ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (
TMC) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ แก่ผู้ประกอบการบริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติประเภทนำทางด้วยเส้น สำหรับช่วยขนส่งของอัตโนมัติซึ่งใช้งานจริงที่โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี เพิ่มความปลอดภัยจากการแพร่กระจายเชื้อโรค พร้อมช่วยลดภาระงานบุคลากรในโรงพยาบาล

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช.

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP สวทช. เป็นหน่วยงานบริการสนับสนุน ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ของ สวทช. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจอย่าง SME ทั้งด้านเงินทุนสนับสนุนและการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งโปรแกรม ITAP สวทช. มีประสบการณ์ในการยกระดับเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชนมากกว่า 4,000 โครงการ มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนกว่า 1,300 คน และมีพันธมิตรเชื่อมโยงกับหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ทางด้านการเงิน การตลาด เป็นต้น โดยในส่วนของผู้ประกอบการ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP โดย อาจารย์อนุกูล สุคโต ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการช่วยให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค ซึ่งได้เริ่มต้นโครงการจากโจทย์ที่ต้องการเพิ่มช่องทางธุรกิจระบบรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ ที่พบว่าการลงทุนที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทข้ามชาติ ยังมีราคาค่อนข้างสูง ทางบริษัทจึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตและจำหน่ายรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ของบริษัท ซึ่งได้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 และเสร็จสิ้นวันที่ 15 สิงหาคม 2563 โดยมีการนำไปใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลชลบุรี

นายอนุกูล สุคโต

นายอนุกูล สุคโต ผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP และอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สิ่งที่ให้การสนับสนุนทางบริษัทฯ เป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา รวมถึงให้ข้อมูลทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในการผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ พร้อมกับแนะนำช่องทาง รวมถึงแหล่งในการจัดหา จัดซื้ออุปกรณ์ เพื่อประหยัดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นรถเคลื่อนที่อัตโนมัติประเภทนำทางด้วยเส้นได้สำเร็จตามที่ผู้ประกอบการตั้งใจไว้ ซึ่งในอนาคตโครงการนี้ยังสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเพิ่มเติมทางด้านระบบขับเคลื่อนให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วและแรงบิดที่สูงขึ้นพร้อมการทำระบบ OEE (Overall Equipment Effectiveness) เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมด้านขนถ่ายวัสดุอย่างเต็มรูปแบบได้


คุณพงษ์เจริญ

คุณพงษ์เจริญ รัชตะธรรมสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด กล่าวว่าบริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 ธุรกิจหลักคือ ให้คำปรึกษา ออกแบบ สร้างเครื่องจักรและติดตั้งระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทต้องการมองหาช่องทางธุรกิจประเภทอื่นเพิ่ม โดยพิจารณาจากทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่แล้ว พบว่าในตลาดมีความต้องการในเรื่องของระบบอัตโนมัติ จึงมีความต้องการที่จะผลิต รถขนส่งของอัตโนมัติ (AGV: Automated Guide Vehicle) และตัดสินใจขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ จากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการทำวิจัยตลาดเรื่องความเป็นไปได้ของการผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติหรือ AGV เพื่อจำหน่าย ทำให้ทราบและเห็นช่องทางในการที่พัฒนาสินค้าให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้ทางบริษัทฯ เห็นความสำคัญในการเร่งพัฒนารถเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ ประเภทนำทางด้วยเส้น ที่มีข้อดีคือราคาถูกกว่าระบบนำทางประเภทอื่นและสามารถหยุดจอดตามจุดที่กำหนดได้ค่อนข้างแม่นยำ จึงเป็นที่มาของการขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. อีกเป็นโครงการที่ 2 เพื่อผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติหรือ AGV จนสำเร็จเป็นผลงานที่ใช้ได้จริงตามที่ต้องการ

แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี

 แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า จากการนำผลงานดังกล่าวมาใช้งานจริงที่โรงพยาบาลชลบุรี พบว่าสามารถช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการนำอาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ ส่งให้ผู้ป่วย เนื่องจากต้องนำส่งหลายรอบต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลสามารถปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อไปช่วยเหลือในส่วนงานอื่น ๆ ที่สำคัญได้มากขึ้น เพราะสามารถใช้เจ้าหน้าที่เพียง 1 คน ในการควบคุมรถได้ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งสิ้นสุด เป็นการลดระยะเวลาในการทำงาน ทำให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น ลดปริมาณการใช้ชุด PPE และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้การจัดการใช้อุปกรณ์ PPE เพียงพอใช้งานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และลดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกับผู้ป่วย และสิ่งแวดล้อม ทำให้ปลอดภัยต่อบุคลากรและผู้ป่วยที่อาจได้รับเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอกอีกด้วย