Around Town

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จับมือ 4 วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย พัฒนาหลักสูตร ปวส. ทวิวุฒิ ซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง กับหลิ่วโจว

1 Mins read

รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบัน เทคโนโลยีจิตรลดา พร้อมด้วย ดร.สมจิตร ศิริเสนา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา คุณภูริสร์ ฐานปัญญา ผู้แทนผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี ดร.วรรณา ตันประภัสร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรีและ ดร.มัฆวาน ศุขวัฒน์ ผู้จัดการวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายก ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการแบบเสมือนจริง (Virtual Signing) กับ Professor Huang Feng อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษารางรถไฟหลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางเพื่อผลิตกำลังคนรองรับความต้องการของของประเทศ และภูมิภาค

           รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีไทยทั้ง 5 แห่งกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษารางรถไฟหลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงในระดับโลกด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสูง สนับสนุนการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง ทั้งโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ซึ่งมีการขยายเส้นทางอย่างรวดเร็วและมีความต้องการบุคลากรทางด้านการบำรุงรักษาไฟฟ้าในระบบขนส่งทางรางเป็นจำนวนมาก ตลอดจนตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในภูมิภาค โดยโครงการนี้ริเริ่มโดยวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา ซึ่งเริ่มส่งนักศึกษาไปศึกษาที่ วิทยาลัยฯ หลิ่วโจวประเทศจีน เป็นรุ่นที่ 1 ต่อมาวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี  วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี และวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายก จึงเข้าร่วมโครงการโดยร่วมส่งนักศึกษาไปเรียนในรุ่นที่ 2 และ 3  จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2564 นี้ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐและจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จึง เข้าร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง 5 สถาบันเทคโนโลยีของไทย กับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษารางรถไฟหลิ่วโจวในการจัดการเรียนการสอนระบบทวิวุฒิ ระดับ ปวส.ในสาขา เทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ในรุ่นที่ 4,5,6 และ 7 ทั้งนี้นักศึกษาจะเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่งในประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งปี จากนั้นไปเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษารางรถไฟหลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ปีครึ่ง และกลับมาฝึกงานในสถานประกอบการในประเทศไทยอีกครึ่งปี ซึ่งเมื่อเรียนครบหลักสูตร จะได้รับวุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจากทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือช่างซ่อมรถไฟตามมาตรฐานของประเทศจีน และผ่านการทดสอบความสามารถด้านภาษาจีนระดับ HSK3

          รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้ เมื่อเข้าไปปฏิบัติงานก็จะได้รับเงินเดือนค่อนข้างสูง เพราะสามารถทำงานได้จริง ทำงานได้ทันที และมีความสามารถพิเศษด้านภาษาจีน จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน ทั้งของไทยและภูมิภาค