Around Town

เยาวชน-ชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน รวมพลังพลเมืองสร้างสรรค์ขับเคลื่อน พื้นที่เป็นเมืองแห่งความสุข

1 Mins read

            โครงการเสียงสาละวิน เมืองสร้างสุข ภายใต้การสนับสนุนโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคุณครู-เยาวชน-ชุมชน รวมพลังขับเคลื่อน สาละวินสู่เมืองสร้างสุข เปิด 6 โปรเจคท์ ใช้สื่อสร้างสรรค์โชว์ต้นทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตอาชีพและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หวังพลิกภาพลักษณ์สาละวินจากลบเป็นบวก ในงาน MIDL Festival “เสียงสาละวิน ถิ่นแม่สะเรียงเวียงงาม”ภายใต้โครงการ MIDL for Inclusive Cities 2020 ณ ลานวัฒนธรรมวัดอุทยารมณ์ (จองสูง) อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.

            ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักดีว่า ‘สื่อ’ เป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่พลเมืองทุกคนเป็นทั้งผู้รับสื่อและผู้ผลิตสื่อในเวลาเดียวกัน หนึ่งในภารกิจหลักของ สสส. คือการหนุนเสริมให้พลเมืองมีทักษะในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ วันนี้เด็กและเยาวชนไม่เพียงใช้สื่อได้ ใช้สื่อเป็น แต่ยังต้องรู้เท่าทันสื่อ และสามารถนำสื่อมาเป็นพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนสังคมและชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โครงการเสียงสาละวิน เมืองสร้างสุข เป็น 1 ในพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในฐานะนักสื่อสารสุขภาวะที่น่าชื่นชม คุณครู เด็กๆ และชุมชนสามารถรวมพลังกัน นำสิ่งดีที่มีอยู่ในลุ่มน้ำสาละวินออกมาสื่อสาร สร้างทั้งพลังแห่งความสุข ความสามัคคีในชุมชน และยังสร้างมุมมองใหม่ๆ แก่คนภายนอกที่มีต่อสาละวินได้อีกด้วย

[catlist id=20 numberposts=5 excludeposts=this]

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน

          คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการสาละวิน เมืองสร้างสุข เป็น 1 ในภาคีเครือข่ายโครงการ  MIDL for Inclusive Cities 2020 ที่มีแนวคิดหลักว่า การสร้างเมืองไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เมืองควรจะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนก็นำทักษะการใช้สื่อ เทคโนโลยี สารสนเทศในเชิงสร้างสรรค์ มาขับเคลื่อนเมืองเพื่อสร้างความสุขของทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน สำหรับโครงการ MIDL for Inclusive Cities นอกจากสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นที่สาละวินแห่งนี้แล้ว ยังมีพื้นที่อีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน เด็กและเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ กำลังเดินหน้าพัฒนาทักษะในการเป็นพลเมืองสื่อที่เข้มแข็ง เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ช่วยกันต่อเติมพื้นที่สุขภาวะให้ขยายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม

อ.ฌัชชภัทร พานิช หัวหน้าโครงการเสียงสาละวิน เมืองสร้างสุข

          ด้าน อ.ฌัชชภัทร พานิช หัวหน้าโครงการเสียงสาละวิน เมืองสร้างสุข ได้กล่าวว่า ปีนี้โครงการเสียงสาละวิน เมืองสร้างสุข ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยได้ขยายพื้นที่การทำงานครอบคลุม 6 พื้นที่รอบลุ่มน้ำสาละวิน มีโรงเรียนเข้าร่วม 6 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนบ้านเลโคะ โรงเรียนศิษย์เก่าศิริราชบ้านดง โรงเรียนบ้านอมพาย โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง โรงเรียนบ้านสบเมย โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา โดยคุณครูและเด็กๆ แต่ละโรงเรียนจะออกเดินทางค้นหาความสุขในพื้นที่ผ่านต้นทุนหลักที่มีอยู่ในพื้นที่สาละวิน คือ ความสุขจากพหุวัฒนธรรม ความสุขในวิถีชีวิตและอาชีพ ความสุขจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นแต่ละโรงเรียนจะสร้างสรรค์ 1 โปรเจคท์ออกมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมเพื่อนำมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยหวังว่าสิ่งที่ทุกคนรวมพลังกันสร้างสรรค์ออกมา จะถูกสื่อสารส่งต่อไปยังคนภายนอกให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ที่มีต่อพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน จากด้านลบเป็นบวก จากเมืองที่เต็มไปด้วยความป่าเถื่อนโหดร้ายให้กลายเป็นเมืองแห่งความสุข ดังเช่นความเป็นจริงที่เมืองสาละวินเป็นอยู่ตลอดมา

[catlist id=35 numberposts=5 excludeposts=this]

คุณครูเคน ปู่หล้า คุณครูจากโรงเรียนบ้านเลโคะ

          ในส่วนของ คุณครูเคน ปู่หล้า คุณครูจากโรงเรียนบ้านเลโคะ ซึ่งเป็น 1 ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเลโคะเลือกทำโปรเจคท่องเที่ยวเก๋ไก๋สไตล์เลโคะ เนื่องจากเห็นว่าบ้านเลโคะมีต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงาม ที่ผ่านมาคนในพื้นที่มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอเด็ก ๆ ได้ลงไปศึกษาค้นหาเรื่องราว ก็ทำให้ทั้งเด็ก เยาวชน และชาวบ้านในชุมชนเริ่มมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ จึงรวมพลังช่วยกันทำโปรเจคนี้ขึ้นมา โดยมีแผนการที่จะผลักดันให้เลโคะกลายเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการท่องเที่ยวที่อยู่บนพื้นฐานการสร้างสรรค์ของชุมชนเพื่อชุมชน เป็นความเก๋ไก๋สไตล์เลโคะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

[catlist id=58 numberposts=5 excludeposts=this]

ด.ช.อภิชาติ เงินวงศ์ประเสริฐ

          ขณะที่ ด.ช.อภิชาติ เงินวงศ์ประเสริฐ นักเรียนจากโรงเรียนบ้านเลโคะกล่าวว่า โครงการนี้ได้มอบประสบการณ์และโอกาสดีๆ มากมาย เปิดพื้นที่ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้านการสื่อสาร จากเดิมที่เคยใช้โทรศัพท์มือถือแค่การเล่นเกม ตอนนี้ก็สามารถนำมาผลิตคลิปเพื่อสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของชุมชนได้ นอกจากนี้ยังได้ฝึกความกล้าแสดงออก ผู้ใหญ่ในชุมชนก็ไว้วางใจให้ช่วยงานสื่อสารของชุมชน ทำให้นอกจากได้ความภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว ยังทำให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ได้พูดคุยและสนิทกันมากขึ้น ชุมชนก็มีความสุขมากขึ้นด้วย