Around Town

“สจด.” จับมือ “สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” และ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” ร่วมพัฒนาและบริหารหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม สร้างบัณฑิตภายใน 3 ปี

1 Mins read

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ลงนามความร่วมมือทางวิชาการพัฒนาและบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม เร่งบ่มเพาะบัณฑิตที่มีทักษะการริเริ่มและดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ตามแนวทาง BCG

          รศ. ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาและบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม ภายใต้การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (หลักสูตร Sandbox) เพื่อมุ่งสร้างบัณฑิตที่มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG) ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบมอดูล รวม 7 มอดูล โดยแต่ละมอดูลผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมที่แตกต่างกัน แต่สัมพันธ์กัน ผ่านการเรียนที่สถาบันฯ และการเข้าปฏิบัติงานที่สถานประกอบการด้าน BCG เสมือนเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ซึ่งผู้เรียนจะได้รับการดูแลและคำแนะนำเกี่ยวกับการริเริ่มและดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประเมินผลการเรียนรู้จากผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และคณาจารย์ที่มาจากทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมอย่างแท้จริงภายใน 3 ปี พร้อมออกไปพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนผ่านการสร้างธุรกิจที่ดูแลสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อมของตนเองหรือให้แก่องค์กรต่อไป

          ด้านคุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีความยินดีและประทับใจอย่างยิ่งในแนวความคิดของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาในการสร้างหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมหรือหลักสูตร Sandbox จากการทำงานขับเคลื่อนหลักสูตรร่วมกันที่ผ่านมา สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้แสดงเจตนารมณ์ใน “การสร้างคน ให้คนสร้างชาติ” เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในหลักสูตร Sandbox เข้าปฏิบัติงานที่สถานประกอบการในเครือข่ายเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักประยุกต์ใช้ทฤษฎีและเครื่องมือทางธุรกิจในการทำธุรกิจจริง ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ซึ่งจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและบริหารหลักสูตร Sandbox โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะช่วยให้การบ่มเพาะทักษะการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมให้แก่ผู้เรียนเป็นไปอย่างสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลดีต่อมุมมองในการริเริ่มและดำเนินธุรกิจใหม่บนฐานนวัตกรรมของผู้เรียนในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าหลักสูตร Sandbox นี้จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ จบการศึกษาออกไปเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

          สำหรับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันวิทยาการนวัตกรรมได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นำมาซึ่งข้อตกลงและการร่วมมือกันในหลากหลายลักษณะ เพื่อร่วมยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยสำหรับกลุ่มงานเยาวชน สำนักงานฯ มุ่งพัฒนาศักยภาพนวัตกรรุ่นเยาว์ผ่านกระบวนการสร้างนวัตกร 4 ขั้นตอนของ STEAM4INNOVATOR ซึ่งเกิดผลลัพธ์อย่างดียิ่ง โดยเยาวชนสามารถเรียนรู้ เกิดประสบการณ์และสร้างแนวคิดนวัตกรได้จากการลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมจริง การลงนามความร่วมมือทางวิชาการฯ นี้ สำนักงานฯ เข้ามาทำความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการส่งบุคลากรร่วมออกแบบเนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอนและเป็นวิทยากรพิเศษ เพื่อให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาศักยภาพทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม ซึ่งการผสานทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสำนักงานฯ กับสถาบันฯ และสมาพันธ์ฯ ในการออกแบบเนื้อหาและดำเนินการหลักสูตร Sandbox จะนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมด้านการศึกษาในอนาคต