Around Town

ก้อนเนื้อที่ปอด: สาเหตุ ลักษณะ สัญญาณเตือน และวิธีรักษา

1 Mins read

ในยุคที่มลพิษทางอากาศห่อหุ้มตัวเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากไม่ได้รับการปกป้องที่ดีพอ อาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายจึงเกิดขึ้นได้เสมอ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีการอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของการมีก้อนเนื้อที่ปอด บทความนี้จะมาบอกถึงสาเหตุ ลักษณะ สัญญาณเตือน และวิธีรักษาหากตรวจพบก้อนเนื้อที่ปอด   

10 vejthani

ก้อนเนื้อที่ปอด คืออะไร ?

ก้อนเนื้อที่ปอด หรือปอดหนาผิดปกติ (Pulmonary Nodule) หมายถึง เนื้อเยื่อที่เติบโตผิดปกติภายในปอด มักถูกค้นพบโดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์ปอด ก้อนเนื้อเหล่านี้อาจเป็นได้ทั้งเนื้องอกมะเร็งและเนื้องอกชนิดไม่มะเร็งก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะ และปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย

สาเหตุของก้อนเนื้อที่ปอดมีหลายประการ ดังนี้

  • มะเร็งปอด : เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติในปอด มักพบในผู้สูบบุหรี่จัด
  • การติดเชื้อ : เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสบางชนิด สามารถทำให้เกิดก้อนเนื้อในปอดได้
  • โรคปอดเรื้อรัง : โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ
  • โรคภูมิแพ้ : โรคภูมิแพ้บางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ
  • เนื้องอกชนิดอื่น ๆ : เช่น เนื้องอกของหลอดเลือด เนื้องอกของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
  • สาเหตุอื่น ๆ : โรคทางพันธุกรรม การสัมผัสสารเคมี มลพิษทางอากาศ ฯลฯ

ลักษณะของก้อนเนื้อที่ปอด

  • ขนาด : อาจเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร หรือใหญ่หลายเซนติเมตร
  • รูปร่าง : กลม รี หรือไม่สม่ำเสมอ
  • ขอบเขต : เรียบหรือขรุขระ
  • ความหนาแน่น : แข็ง ทึบ, ฝ้าขาว หรือผสมผสานกัน

อย่างไรก็ตาม การมีก้อนเนื้อที่ปอดมักแสดงอาการในระยะแรก ๆ แต่เมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ไอเรื้อรัง โดยอาจมีเสมหะหรือไม่มี เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นอาการที่มีลักษณะร่วมกับโรคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน จึงทำให้สังเกตได้ยากว่าเกิดจากการมีก้อนเนื้อที่ปอด 

แต่หากพบสัญญาณเตือนที่มากกว่านี้ เช่น ไอเรื้อรังมากกว่า 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น 

การวินิจฉัยก้อนเนื้อที่ปอด 

การตรวจวินิจฉัยก้อนเนื้อที่ปอด แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เอกซเรย์ปอด การทำ CT Scan ซึ่งเป็นการเอกซเรย์ที่ละเอียดยิ่งขึ้นในระดับ 3 มิติ การทำ PET Scan ซึ่งจะเป็นการตรวจในระดับชีวะเคมี รวมไปถึงอาจมีการส่งตรวจชิ้นเนื้อด้วย

วิธีการรักษาก้อนเนื้อที่ปอด 

เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่า มีก้อนเนื้อที่ปอด การรักษาขั้นต่อไปจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ลักษณะ และระยะของโรค เช่น 

  • มะเร็งปอด : การรักษามะเร็งปอด ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง อาจรวมถึงการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด หรือการรักษาแบบมุ่งเป้า
  • การติดเชื้อ : การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา หรือยาต้านไวรัส
  • โรคปอดเรื้อรัง : การรักษาด้วยยา การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด
  • โรคภูมิแพ้ : การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ การใช้ยา

วิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดก้อนเนื้อที่ปอด

เมื่อรู้แล้วว่าการเกิดก้อนเนื้อที่ปอดอาจเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ดังนั้น จึงควรป้องกันและหลีกเลี่ยงต้นเหตุเหล่านี้ เช่น 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ 

เหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการสังเกตอาการมีก้อนเนื้อที่ปอด ทางที่ดีหากพบอาการผิดสังเกต ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที