Around Town

สุดยอดสมาร์ทโชห่วย 2563 บทพิสูจน์เคล็ดลับเถ้าแก่ “ตัวจริง” พร้อมเผยประสบการณ์ค้าขายยุค 4.0 ทำอย่างไร? ให้ ‘อยู่รอด อยู่รุ่ง อยู่รวย’

1 Mins read

เพราะมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย มีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อน จีดีพี หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เราไม่อาจมองข้าม หรือยอมละทิ้งธุรกิจประเภทนี้ให้ล้มหายตายจากไปได้

แม็คโคร ในฐานะผู้นำและคู่คิดในการพัฒนาธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการ  มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของโชห่วยไทย จึงจัด “โครงการสมาร์ทโชห่วย” กิจกรรมประกวดเฟ้นหาสุดยอดเจ้าของร้านโชห่วยประจำปี 2563  ที่คัดเลือกจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา

@ คู่คิดพัฒนาธุรกิจโชห่วยไทย

นายวีระชัย ตู้วชิรกุล

วีระชัย ตู้วชิรกุล”  ผู้จัดการอาวุโส แม็คโคร 4.0 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการมิตรแท้โชห่วย และ ประธานการจัดงาน ตลาดนัดโชห่วย ครั้งที่ ๑๒  กล่าวว่า “โครงการสมาร์ทโชห่วย เกิดจากแนวคิดการพัฒนาศักยภาพร้านค้ารายย่อย ด้วยการเรียนรู้จากการปรับปรุง พัฒนาร้านค้า ให้อยู่รอด อยู่รุ่ง อยู่รวย ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและปัจจัยรุมเร้ามากมาย”

การตัดสินผู้ชนะแต่ละภาคประจำปีนี้ จึงไม่ใช่แค่ การพาธุรกิจให้รอด จัดร้านให้เป็นระเบียบสวยงาม แต่ต้องปรับตัวให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย”  ที่อาจมีลักษณะในการดำเนินธุรกิจแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ตามพฤติกรรมลูกค้า ทำเลที่ตั้ง รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้น

“ปีนี้มีผู้ส่งแผนงานเข้าประกวดกว่า 100 แผนงาน เรานำมาคัดเลือก เพื่อเฟ้นหาต้นแบบสมาร์ทโชห่วย 4 ภาค โดยใช้เกณฑ์การตัดสินคือ การปรับตัวให้เป็นสมาร์ทโชห่วยให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจโชห่วย  แม้แผนงานต่างๆ ที่ส่งมาประกวดจะมีฐานข้อมูลแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ค้นพบแนวทางการเติบโตในแบบของตัวเองได้”  วีระชัย กล่าว

[catlist id=21 numberposts=5 excludeposts=this]

@การปรับตัวของ “ตัวจริง”

พื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามี “ร้านโชห่วย”มากที่สุดในประเทศ ก็คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การปรับตัวของร้านค้าเล็กๆ ที่แฝงตัวอยู่ในแดนดินถิ่นอีสาน จึงน่าสนใจยิ่ง

นายธนกฤต ทิพยเทอดธนา ขวา

ธนกฤต ทิพยเทอดธนา เจ้าของร้าน 7-นายมินิมาร์ท จ.สุรินทร์ ผู้ชนะเลิศโครงการสมาร์ทโชห่วย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลือกนำ ครัวชุมชน ตู้แช่ อาหารแช่แข็ง มาสร้างความแตกต่าง  ร่วมด้วยการสร้างสรรค์ตลาดสำหรับขายสินค้าพื้นบ้านจากชุมชนเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน ผสานกับการนำเทคโนโลยีมาสื่อสารการตลาด เพิ่มช่องทางชำระเงิน และไม่พลาดโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

“ครัวชุมชน สร้างความแตกต่างให้ร้านเรามาก ทางร้านเข้าร่วมโครงการกับแม็คโครมา 3 ปีกว่าแล้ว มีตู้ครัวชุมชนซึ่งเป็นตู้แช่ อาหารแช่แข็ง ปัจจุบันมีอยู่ 6 ตู้แล้ว เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น  ที่สำคัญเราได้ช่วยเหลือชุมชนด้วยการนำสินค้าของชาวบ้าน อย่าง ผัก ผลไม้ ไข่เป็ด ขนมพื้นบ้าน มาช่วยขาย และโครงการตลาดน้อย ที่คิดทำขึ้นเพื่อเปิดจำหน่ายสินค้าชุมชนโดยเฉพาะอีก”

ไม่เพียงเท่านั้น “ธนกฤต” ยังนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้กับการทำตลาด ส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์  มีการ Live สดผ่านเครือข่ายลูกค้าในเฟซบุ้ก  มีแอปพลิเคชั่นไลน์สำหรับรับออเดอร์  เพิ่มช่องทางชำระเงินนอกเหนือจากจ่ายเงินสด  เพิ่มบริการเสริมประเภทโอน จ่าย เติมเงิน ปริ้นต์เอกสาร  รวมถึงลงทะเบียนเป็นร้านที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สารพัดบริการครบจบในที่เดียว ทำให้ร้าน 7-นายมินิมาร์ท มีคนเข้าออกร้านไม่ขาด มีรายได้เฉลี่ย 50,000 บาทต่อวัน

ด้าน “เจษฎา พงศ์วิศิน” เจ้าของร้านไทยสงวน จังหวัดระยอง ผู้ชนะเลิศภาคกลาง บอกเล่าถึงจุดเด่น   กลยุทธ์สู่ชัยชนะ คือ ไม่หยุดที่จะพัฒนาร้านอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่น่าสนใจคือ เขาขยันศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี  ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ Big data  รวมถึงการหาเครื่องมือจัดการร้าน และค้นหาความต้องการของลูกค้าในละแวกร้านให้เจอ  โดยยังคงเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าในราคาถูกอยู่

ส่วน ทายาทรุ่นที่ 3 ที่มารับไม้ต่อธุรกิจโชห่วยจากครอบครัวอย่าง “วรลักษณ์ สิละศรชัย” จากร้านแม่นารีมินิมาร์ท จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ชนะเลิศภาคเหนือ   แม้จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อการขายแล้ว แต่ก็ยังไม่ละทิ้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ผสานกับการมีทัศนคติที่ดี ในการพลิกมุมมอง มองวิกฤติให้เป็นโอกาส

“เราต้องมองให้ไกล รู้ให้ทัน แล้วนำมาปรับให้เข้ากับพฤติกรรม หรือสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกจุดเด่นของร้านเราก็คือ การสร้างระบบ POS ขึ้นมาเอง เพราะคิดว่าจะตอบสนองความต้องการของเราได้ตรงจุด แก้ไขปรับปรุงได้ด้วยตัวเอง ซึ่งระบบ POS จะช่วยการจัดการหน้าร้านหลังร้านได้อย่างเป็นระบบ สะดวกรวดเร็ว ใช้งานได้ทุกคน ทำให้มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา”

@ จากที่พึ่งยามยากในชุมชน สู่ โชห่วยรวยยั่งยืน

“วีระชัย”  กล่าวอีกว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการโครงการสมาร์ทโชห่วยคือ โชห่วยไทยปรับตัวได้นะ เริ่มจากอะไรที่ง่าย ลงทุนน้อย ใช้ได้เร็ว เชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาร้าน การขนส่งในชุมชน การใช้เทคโนโลยี โชห่วยต้องรู้จักลูกค้าในชุมชนและปรับตัวตามความต้องการของลูกค้าให้เท่าทัน  แล้วธุรกิจเล็กๆ ของคุณก็จะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้ชุมชน”

“จากโมเดลความสำเร็จของผู้ชนะในแต่ละภาค แม็คโครจะนำมาพัฒนาประยุกต์เป็นองค์ความรู้อันมีค่าให้กับโชห่วยรายอื่นๆ  ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวไปสู่การเป็นโชห่วยที่ ‘อยู่รอด อยู่รุ่ง อยู่รวย’ หมายความว่า สามารถดำเนินธุรกิจจนมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จากนั้นมีเหลือเงินเก็บสร้างความมั่นคงในชีวิต และนำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย ”

เมื่อร้านเล็กๆ ในชุมชนมีความแข็งแกร่ง เป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างเหนียวแน่นและยาวนานเช่นนี้แล้ว โอกาสที่ธุรกิจประเภทนี้จะล้มหายตายจาก ก็คงเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญ เป็นการเพิ่มพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งมั่นคง ผ่านการดำเนินไปของร้านโชห่วย ซึ่งมีอยู่กว่า 500,000 รายทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)!