ชื่อผู้ประพันธ์ พงศกร

ชื่อคนเขียนบทโทรทัศน์ ปารดา กันตพัฒนกุล, ยิ่งยศ ปัญญา

ชื่อผู้กำกับละคร พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

บริษัทผู้ดำเนินการ แอค อาร์ต เจเนเรชั่น จำกัด

ชื่อผู้จัด เอกนรี  วชิรบรรจง 

เรื่องย่อ “ลายกินรี”

ลายกินรี 7

ณ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๓๐ ปีที่ ๓๐ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีหมอหญิงผู้หนี่งชื่อพุดซ้อน เป็นธิดาของ หมอโหมด ซึ่งทำหน้าที่รักษาคนไข้หลังจากที่หมอโหมดเสียชีวิตไป แต่ด้วยคนในสมัยนั้นไม่เชื่อมั่นในหมอผู้หญิง เธอจึงใช้ชื่อหมอมีผู้เป็นพี่ชายบังหน้า

วันหนึ่งมีผู้พบศพในน้ำ ชายผู้ตายห่มสไบคล้ายสตรี ในระหว่างที่แม่หมอพุดซ้อนสำรวจศพคร่าวๆ หลวงอินทร์ หรือ ออกหลวงอินทราชภักดี เจ้ากรมกองกระเวณขวา และ เมอซิเออร์โรแบรต์ เลขานุการของเรือโทเฟอร์แบงหรือออกพระศักดิ์สงครามมาเห็นเหตุการณ์เข้าพอดีจึงได้รู้ว่าผู้ตายคือ กปิตันฌอง ชาวฝรั่งเศส หลวงอินทร์ไม่เชื่อมั่นในตัวหมอหญิงผู้ตรวจศพตามค่านิยมของคนในสมัยนั้น อีกทั้งพุดซ้อนยังเป็นธิดาของหมอโหมด ผู้ที่รักษาภรรยาของเขาไม่หายจนต้องตายไปเมื่อหลายปีก่อน แต่โรแบรต์ต้องการให้มีการตรวจศพเพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง

สิ่งที่หลวงอินทร์เกรงก็คือ ถ้าหากกปิตันฌองไม่ได้ตกน้ำตายเอง แต่ถูกฆ่าตายและผู้ฆ่าเป็นชาวสยาม ฝรั่งเศสอาจยกเรื่องนี้เป็นเหตุทำสงครามได้ ซึ่งพุดซ้อนก็ยืนยันที่จะตรวจศพเพื่อหาความยุติธรรมให้กับผู้ตายเช่นกัน

ในที่สุดเรื่องราวการตายของกปิตันฌองก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ มีการแต่งตั้งให้หลวงอินทร์  โรแบรต์ และพุดซ้อน สืบหาสาเหตุการตายของกปิตันฌอง ซึ่งนำไปสู่การค้นหาตัว “ฆาตกร” ที่อาจเป็นได้ทั้งคนต่างชาติ และคนสยาม

ตลอดการสอบสวนและสืบค้น หลวงอินทร์ โรแบรต์ และพุดซ้อน ได้พบกับหลักฐานและเรื่องราวที่ซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวพันกับผู้คนมากมายกว่าที่คิดและ “ผู้ต้องสงสัย” ก็มีหลายคนเกินกว่าที่คาดเดา “ใคร” คือผู้ฆ่ากปิตันฌอง  ทั้ง 3 คนจะหาตัว “ฆาตกร” ได้หรือไม่ และหลักฐานใดจะมัดตัวคนผู้นั้น ติดตามชมใน “ลายกินรี”