Around Town

ผจก กองทุนสื่อฯ ชี้ปรากฎการณ์ลุงพล ตอกย้ำความจำเป็นต้องมีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

1 Mins read

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กล่าวถึง ปรากฎการณ์ของสื่อในการเสนอข่าว”ลุงพล” หรือ นายไชย์พล วิภา จากการตกเป็นผู้ต้องสงสัยกลายมาเป็นคนดังแห่ง บ้านกกกอก  ล่าสุดมีกระแสตีกลับจนทำให้เกิดแฮชแทค”แบนลุงพล” ขึ้นอันดับหนึ่งบนโลกออนไลน์

โดยมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ของสื่อ ที่มองจากหลักคิดพื้นฐานจะเห็นว่าผู้ประกอบการ จะยึดเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อสื่อเป็นธุรกิจการทำรายการที่มีคนติดตามจำนวนมากมีการวัดกันที่เรตติ้งเพื่อสร้างรายได้ผ่านทางโฆษณา รายได้จึงถือเป็นปัจจัยชี้ขาดในแง่ของการประกอบการทางธุรกิจ

[catlist id=21 numberposts=5 excludeposts=this]

ส่วนในแง่ของคนทำงานสื่อซึ่งตนเองก็เคยทำงานในองค์กรด้านสื่อ ต้องยอมรับว่าอยู่ในสภาวะที่เรียกว่ามันย้อนแย้ง ส่วนหนึ่งคือการที่ทำงานเพื่อให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้และสร้างรายได้ อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของคนทำงานและเรื่องของเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารรวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะฉะนั้นความอึดอัดของบุคลากรในองค์กรสื่อที่จริงมีมาโดยตลอด เราจึงต้องมองอย่างเข้าใจ ว่าถ้าองค์กรธุรกิจเป้าหมายก็คือการทำกำไร ส่วนบุคลากรด้านสื่อเอง ก็ต้องบริหารจัดการระหว่างจุดยืนการเป็นสื่อมวลชนที่ดีกับจุดยืนขององค์กรซึ่งบางทีเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเชื่อว่าการทำสื่อที่ดีจำเป็นต้องสร้าง แต่หากปล่อยให้สื่ออยู่ในระบบธุรกิจความคาดหวังที่จะมีสื่อสร้างสรรค์อาจเป็นไปได้ยากและเกิดปัญหา

“สื่อดีบางทีก็ไม่ดัง สื่อดังบางทีก็ไม่ดี ดังแล้วก็มีคนได้ประโยชน์ เป็นห่วงโซ่ วันนี้ต้องตั้งหลักให้ดีและคิดว่าการมีกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเป็นโอกาสของสังคม”

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่างบประมาณของกองทุนฯ ปีละ 2-3 ร้อยล้านมองว่าอาจน้อยถ้าเทียบกับความตั้งใจของคนที่จะเข้ามาทำสื่อสร้างสรรค์และเข้ามาขอทุน ซึ่งในหลักการมองว่ากองทุนสำหรับคนที่จะตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาสื่อดีๆ

ส่วนที่หลายคนอยากให้ทาง กสทช.มีการเข้มงวดและกำกับการดำเนินการของสื่อผ่านการใช้กฎหมาย เรื่องนี้ยากมาก เพราะบางเรื่องอาจจะไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ถูกจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องว่าง ซึ่งหลายกรณีทาง กสทช.มีการกำกับดูแลเนื้อหารายการต่างๆ มีการเชิญมาทำความเข้าใจ เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของคนในสังคม

วันนี้เรื่องของการปฏิรูปสื่อ ตนได้ยินมาหลายปี ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มต้นในการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง โดยมองว่าควรจะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งการใช้มาตรการทางสังคมในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ดี หากกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ หรืออาจจะใช้การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล ชี้นำสังคมให้เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกหรือมุ่งแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญและช่วยกันรณรงค์ทางสังคม ซึ่งมองว่ามาตรการทางกฎหมาย เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังย้ำว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง การให้ประชาชนเป็นผู้ชม ผู้ฟัง ผู้ดู ผู้เสพสื่อที่ดีและอีกด้านหนึ่งอยากให้มาช่วยกันในการสร้างสื่อที่ดีๆซึ่งมีหลายเรื่อง อาทิ เรื่องราวในท้องถิ่น เรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชน มองว่ายังเป็นเรื่องที่สร้างคุณค่าและสร้างมูลค่าไปพร้อมกันได้