Around Town

เลขาธิการฯ ศาลยุติธรรม พร้อมคณะผู้บริหารศาลพัทยา สาธิตนวัตกรรม พัฒนาดิจิทัลคอร์ท เทคโนโลยีครบวงจร ก่อนฟ้อง ชั้นฟ้อง หลังพิพากษา

1 Mins read

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายวันชัย แก้วพรหม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา นางสาวเสมอแข เสนเนียม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพัทยา
และนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ลงพื้นที่พร้อมคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมศาล
จังหวัดพัทยาและศาลแขวงพัทยา ซึ่งมีการสาธิตนวัตกรรมช่วยสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี
ทั้งในช่วงก่อนฟ้อง รับฟ้อง ระหว่างพิจารณา และหลังพิพากษา ตามนโยบายการพัฒนาศาลยุติธรรม
สู่ศาลดิจิทัล (Digital Court) ในปี 2563 (ค.ศ.2020)

S 2162768

โดยเจ้าหน้าที่ ได้สาธิตระบบ AWIS (เอวิส) การเชื่อมฐานข้อมูลการออกหมายจับ และผลการจับกุมตามหมายจับ สนับสนุนงานตุลาการช่วงก่อนฟ้องระหว่างศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำให้มีฐานข้อมูลหมายจับที่เป็นปัจจุบันแบบเรียลไทม์ การปฏิบัติงานในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม สะดวก รวดเร็ว เกิดประโยชน์ร่วมกันยิ่งขึ้น

S 2162760

การเข้าระบบยื่นฟ้องออนไลน์ e-Filing (อี-ไฟล์ลิ่ง) โดยขณะนี้ได้พัฒนาระบบสู่ version 3 รองรับประเภทคดีได้เพิ่มเติมมากกว่าเดิม ทั้งคดีแพ่งการร้องขอจัดการมรดก ร้องขอให้เป็นบุคคลสาบสูญ คดีผู้บริโภค เป็นต้น และการยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ รวมถึงสามารถ
ส่งคำคู่ความทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

ระบบ CIOS (ซีออส) ให้บริการคู่ความเกี่ยวกับข้อมูลคดีศาลยุติธรรม อาทิ คำสั่งศาล ผลการ
ส่งหมาย ปฏิทินนัดพิจารณา การรับรองคดีถึงที่สุด การติดตามสำนวนคดี ทนายขอแรง เป็นต้น ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง สามารถใช้งานในระบบได้ผ่านทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์
และโทรศัพท์มือถือ (สมาร์ทโฟน) เชื่อมโยงข้อมูลจาก 272 ศาล ไว้ในระบบเดียวกัน สร้างความสะดวก ลดขั้นตอนให้เกิดความรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย เข้าถึงข้อมูลคดีได้โดยไม่ต้องมาศาล อีกทั้ง CIOSยังเป็นระบบ Tracking System (แทรคกิ้ง) หรือการติดตามสำนวนออนไลน์ สำหรับประชาชน คู่ความ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคู่ความจะสามารถทราบความเคลื่อนไหวของข้อมูลคดีที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลได้ทุกที่ ทุกเวลา

S 2162765

ระบบ Corporate Banking การคืนเงินค่าธรรมเนียมศาล ผ่านระบบธนาคารออนไลน์
แทนระบบเดิมที่จ่ายด้วยเช็ค ซึ่งเป็นระบบสร้างความสะดวกให้คู่ความและทนายความ ช่วงรับฟ้อง ระหว่างการพิจารณา และหลังพิพากษา

ระบบ e-Notice การประกาศนัดไต่สวนคำร้องต่าง ๆ ด้วยสื่อสารสนเทศ IT เช่น เว็บไซต์ศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แทนการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์

ระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ (Online Mediation) ที่ดำเนินการได้ในหลายช่องทาง อาทิ ประชุมทางโทรศัพท์ (มือถือ) แอปพลิเคชั่น LINE , ZOOM, Webex by Cisco ซึ่งระบบเหล่านี้สนับสนุนขั้นตอนระหว่างพิจารณาคดี ให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายของคู่ความ โดยปัจจุบัน
ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่จัดให้มีระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ (Online Mediation) สามารถ
ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทด้วยความเป็นธรรม ปัจจุบันมีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์กว่า 13,000 คดีในศาล 207 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สนับสนุนการบริหารจัดการด้านคดีแล้ว ส่วนบริการประชาชนในขั้นตอนการปล่อยชั่วคราว ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการ
มาอย่างต่อเนื่องต่อการยกระดับคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา/จำเลย ได้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Electronic Monitoring (กำไลข้อเท้า EM) สำหรับจำกัดพื้นที่การเดินทางที่มีศูนย์ติดตามฯ เฝ้าตรวจดูสัญญาณอุปกรณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นอีกทางเลือกในการปล่อยชั่วคราว ร่วมกับการยื่นประกันด้วยคำร้องใบเดียว และการประเมินความเสี่ยงเพื่อให้ทราบถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหา/จำเลยแต่ละคนที่จะป้องกันการหลบหนีด้วย