Around Town

ผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวก้อย 4 กระทรวง เดินหน้าเพิ่มทักษะอาชีพเด็กไทยหลังจบ ม.3 ในปี 2564

1 Mins read

ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร่งเครื่องติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ม.3

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ไม่ได้เรียนต่อนับหมื่นราย สำหรับในปีการศึกษา 2562 มีจำนวนสูงถึง 20,781 ราย เด็กกลุ่มนี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีเพื่อหารายได้เข้าครอบครัว จึงเป็นการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ หากเด็กได้รับการฝึกอบรมต่อเนื่องอีก 4 – 6 เดือน จะช่วยให้เด็กเข้าสู่ตลาดแรงานในฐานะแรงงานมีฝีมือ มีรายได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นจาก 300 บาท เป็น 400-450 บาทต่อวัน ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ซึ่งในปี 2564 ได้จัดประชุมชี้แจงผู้ที่ปฏิบัติงานในระดับจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ครบทุกภูมิภาคกว่า 1,000 คน เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิธีการรายงานความคืบหน้าของโครงการทางระบบ VSEP (Vocational Skills Enhancement Project) ผ่านระบบออนไลน์ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (www.ombudsman.go.th) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ต้องรายงานผลทันทีภายใน 7 วันหลังจากเสร็จภารกิจในแต่ละขั้นตอน โดยเริ่มจากภาคใต้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ณ จังหวัดสงขลา ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 20 – 22 ตุลาคม ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่นี้ไปทุกจังหวัดต้องเริ่มขับเคลื่อนตามกรอบแนวคิดโครงการตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่การสำรวจหาเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ ม.3 และเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่การฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและสนับสนุนเงินสงเคราะห์ระหว่างฝึกอบรม และกระบวนการปลายน้ำ ได้แก่การสำรวจและเตรียมตลาดแรงงานรองรับเด็กที่ผ่านการอบรม และตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ 10 ขั้นตอน

2020.10.21 ๒๐๑๐๒๑

ขั้นตอนที่ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เพิ่มเติมในกรณีที่เห็นสมควรภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563

ขั้นตอนที่ 2 จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563

ขั้นตอนที่ 3 สำนักงานจัดหางานจังหวัดเริ่มจัดประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนวร่วมกับโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานในกิจกรรมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2563

ขั้นตอนที่ 4 ครูแนะแนวเริ่มสำรวจและจำแนกนักเรียนกลุ่มเป้าหมายระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม – 31 มกราคม 2564

ขั้นตอนที่ 5 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเริ่มให้การสนับสนุนเงินสงเคราะห์ประเภทต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 กันยายน 2564

ขั้นตอนที่ 6 ครูแนะแนวนำนักเรียนกลุ่มเป้าหมายไปศึกษาดูงานและรับสมัครเข้าอบรมฯ ที่สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ -15 มีนาคม 2564

ขั้นตอนที่ 7 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด จัดฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน 2564

ขั้นตอนที่ 8 สำนักงานจัดหางานจังหวัดจัดเตรียมและหาตำแหน่งงานรองรับเพื่อส่งต่อผู้ที่จบหลักสูตร เข้าตลาดแรงงานระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2564

ขั้นตอนที่ 9 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการฯ

ขั้นตอนที่ 10 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสรุปรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทราบเมื่อสิ้นสุดโครงการตามปีงบประมาณ

2020 6.10.21 ๒๐๑๐๒๑

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากครูแนะแนวที่ต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองเรื่องวัตถุประสงค์ สิทธิประโยชน์ และประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ ขอให้ผู้ปกครองเข้าใจและให้โอกาส บุตรหลานของท่านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นแรงานมีฝีมือตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น และ ต่อจากนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการของจังหวัดต่าง ๆ ทุกภูมิภาค เพื่อรับทราบถึงปัญหา อุปสรรคข้อขัดข้อง พร้อมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่อไป