Around Town

Hope Factory “นิทรรศการที่จะเบ่งบานความหวังให้สะพรั่งจากสามศิลปินผ่านบทกวี หนังสั้นทดลอง และภาพถ่าย”

1 Mins read

ระยะเวลาการจัดแสดงงาน 9 ธันวาคม 2563 ถึง 10 มกราคม 2564

สถานที่จัดงาน : Gallery ชั้น 2, FotoClub BKK (เจริญกรุง)

Hope Factory

Hope Factory เกิดจากการรวมตัวกันของสามศิลปินต่างแขนง วิน นิมมานวรวุฒิ (โรแมนติกร้าย),มัดหมี่ พิมดาว และพีเค-พัสกร วรรณศิริกุล เพื่อร่วมใจสร้างและส่งต่อความหวังผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ท่ามกลางยุคสมัยที่เสียงของทุกคนเป็นเสมือนความหวัง และสถานการณ์ในปี 2020 อันแสนหนักหน่วงแทบจะตลอดทั้งปีจนอาจทำให้หลายๆคนท้อถอยและสิ้นหวังไปบ้าง ส่งท้ายปีนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนให้มาค้นหาความหวังในแบบของตัวเอง ผ่านบทกวี หนังสั้น และภาพถ่าย ภายในพื้นที่ซึ่งถูกจำลองเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทกวีสีชมพูในสไตล์โรแมนติกร้ายที่แปลงโฉม มาเป็นงานปักบนผืนหน้าขนาดใหญ่ หนังสั้นทดลองของมัดหมี่ พิมดาวที่เขียนบท กำกับและแสดงด้วยตนเอง รวมถึงผลงานภาพถ่ายพอร์ตเทรตขาวดำในสไตล์แบบพีเค-พัสกร โดยงานนี้ศิลปินทั้งสามยังได้ทำงานร่วมกับ FotoClub BKK (เจริญกรุง) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเขียนบทกวีสด และการถ่ายภาพให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษในทุกๆวันเสาร์ ตลอดระยะเวลาการจัดงาน โดยกติกาในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ FotoClub BKK

[catlist id=21 numberposts=5 excludeposts=this]

ศิลปินที่ร่วมจัดแสดง

– วิน นิมมานวรวุฒิ (โรแมนติกร้าย) เป็นเฟมินิสต์ กวี และนักร้อง-นักแต่งเพลง ที่ทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศ บทกวีและเพลงของวินเน้นไปที่การให้กำลังใจผู้หญิง นิทรรศการล่าสุดของเขาคือ Miss Candy Heart ที่ผสมผสานระหว่างบทกวี เพลง และภาพวาด ซึ่งใน Hope Factory ครั้งนี้วินร่วมมือกับ Jeep Craft Studio เนรมิตบทกวีสีชมพูในเพจโรแมนติกร้ายให้กลายเป็นงานปักบนผืนผ้าขนาดใหญ่ พร้อมเขียนบทกวีสดให้แก่ผู้เข้าร่วมงานในธีมพิเศษ

– มัดหมี่ พิมดาว เป็นศิลปิน นักร้อง นักแสดง และนักเขียน ที่หลายคนคงคุ้นหน้าจากบท “แม่พลอย” ในละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน ซึ่งในครั้งนี้เธอนำเสนอความคิดในบทบาทใหม่เพื่อส่งต่อกำลังใจและความหวังในรูปแบบของ Performance art และ Experimental short Film เรื่อง Starlight โดยใช้กวีเป็นสื่อนำ และใช้การเคลื่อนไหวกึ่ง Contemporary ในการเล่าเรื่องซึ่งครั้งนี้เธอเขียนบท แสดงและกำกับเอง (ซึ่งยังมีนักแสดงรับเชิญอย่าง พีเค-พัสกร วรรณศิริกุล เข้าร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย)

– พีเค พัสกร วรรณศิริกุล นายแบบและนักแสดงมากความสามารถ ซึ่งมีอีกบทบาทที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบนั่นคือ การเป็น ช่างภาพ ในครั้งนี้พีเคจะแสดงความหวังผ่านภาพถ่ายบุคคลขาว-ดำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งยังมีกิจกรรม การถ่ายภาพให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยภาพทั้งหมดจะถูกนำไปจัดแสดงเป็นงานศิลปะติดตั้ง (Installation Art)ไว้ในงาน